ทานาบาตะมัตสึริ (七夕祭りTanabata Matsuri) หรือเทศกาลแห่งดวงดาว

วันที่ 7 กรกฎาคม เป็นวันทานาบาตะ (七夕 Tanabata) ตำนานความรักของเจ้าหญิงทอผ้า โอริฮิเมะ และชายเลี้ยงวัว ฮิโคโบชิ ก่อกำเนิดเป็นวันทานาบาตะ ผู้คนมักจะเขียนคำอธิษฐานลงบนกระดาษ และนำไปผูกไว้กับกิ่งไผ่ ตกแต่งด้วยกระดาษโอริกามิหรือทันซากุที่เขียนคำอธิษฐานบนกระดาษ ความหมายและที่มาของวันทานาบาตะคืออะไร? โอริฮิเมะและฮิโคโบชิอยู่ตรงไหนของทางช้างเผือก? อุปกรณ์ตกแต่งทานาบาตะมีแบบไหนบ้าง? อาหารที่ทานในวันนี้คืออะไร วันนี้จะมาอธิบายสิ่งต่าง ๆ เกี่ยวกับทานาบาตะให้รู้กัน

สารบัญ

ทานาบาตะคืออะไร?

ทานาบาตะคืออะไร

ทานาบาตะ คือวันแห่งความรักและความสุขสมหวังของดวงดาว 2 ดวง ดวงแรกมีนามว่า โอริฮิเมะ (織姫 orihime)และดวงที่สองมีนามว่า ฮิโคโบชิ (彦星 Hikoboshi) ตามความเชื่อของคนญี่ปุ่นที่ได้เล่ากันต่อๆ กันมาว่า ดวงดาวสองดวงนี้ต้องพลัดพรากจากกันโดยมีทางช้างเผือกหรือที่คนญี่ปุ่นสมัยโบราณตั้งชื่อให้ว่า อามาโนะกาวา (天の川 Amanogawa) ซึ่งแปลตามศัพท์ตรงๆ ว่า แม่น้ำแห่งสวรรค์ และแม่น้ำสายนี้เป็นแม่น้ำสายที่ขวางกั้นดวงดาวสองดวงไม่ให้ได้พบกัน แต่ในทุกๆ ปี ของวันที่ 7 เดือน 7 (วันที่ 7 กรกฏาคม) ซึ่งเป็นวันที่ทางช้างเผือกจะออกมาปรากฏบนท้องฟ้าของประเทศญี่ปุ่น ทำให้สามารถมองเห็นกันได้ในทุกๆ ปี จะเป็นวันที่ดวงดาวสองดวง จะได้มีโอกาสได้กลับมาพบกันปีละครั้ง สมดังใจที่คิดถึงและปรารถนาของดวงดาวทั้งสองนั่นเอง

ตำนานโอริฮิเมะและฮิโคโบชิ

เจ้าหญิงทอผ้า ชายเลี้ยงวัว

ตำนานความรักของดวงดาวบนฟากฟ้า 2 ดวง เมื่อเจ้าหญิงทอผ้า โอริฮิเมะ (織姫 orihime) เทพแห่งการถักทอและชายเลี้ยงวัว ฮิโคโบชิ (彦星 Hikoboshi) เทพแห่งการเกษตร ตกหลุมรักซึ่งกันและกัน และเริ่มละทิ้งภาระหน้าที่ของตน เมื่อเรื่องนี้ไปถึงหูบิดาของโอริฮิเมะ ซึ่งเป็นผู้ปกครองสวรรค์ก็โกรธมาก จึงจับทั้งคู่แยกกันไปอยู่คนละฟากฝั่งของแม่น้ำแห่งสวรรค์ อามาโนะกาวา (天の川 Amanogawa) แต่ด้วยความเห็นใจจึงอนุญาตให้ทั้งสองมาพบกันได้ปีละ 1 ครั้ง ในวันที่ 7 เดือน 7 ซึ่งก็คือวันทานาบาตะนั่นเอง โดยในวันนั้นจะมีเหล่านกมารวมตัวกันกางปีกออกเป็นสะพานเหนือสายแม่น้ำแห่งสวรรค์ช่วยให้ทั้งคู่ได้ข้ามมาพบกัน ทั้งคู่จึงกลับมาตั้งหน้าตั้งตาทำงานอย่างแข็งขัน เพื่อเฝ้ารอให้ถึงวันที่จะได้พบกันแม้จะเพียงปีละหนึ่งครั้งก็ตาม

การตกแต่งต้นไผ่ในวันทานาบาตะคืออะไร?

ต้นไผ่ในวันทานาบาตะ

ในเทศกาลทานาบาตะคนญี่ปุ่นจะเชื่อว่าการนำต้นไผ่มาปักไว้ในรั้วบ้าน และเขียนคำอธิษฐานใส่กระดาษ นำไปผูกไว้ที่ต้นไผ่ที่ตัดมา แล้วคำอธิษฐานอันนั้นก็อาจจะได้สมประสงค์สมดังใจปรารถนาเหมือนๆ กับ โอริฮิเมะ (織姫 orihime) และ ฮิโคโบชิ (彦星 Hikoboshi) ที่ได้สมหวังและได้พบกันในวันนั้นนั่นเอง กระดาษหลากสีนั้นไม่ใช่กระดาษเปล่าธรรมดาๆ แต่เป็นกระดาษสำหรับขอพรที่เรียกว่า "ทันซากุ"(短冊 Tanzaku) ให้เขียนคำอธิษฐานลงบนกระดาษเพื่อขอพรจากเทพเจ้าให้คำอธิษฐานเป็นจริง แล้วนำไปผูกไว้ที่กิ่งไผ่ สาเหตุที่ใช้ต้นไผ่นี้ก็มีที่มาจาก เวลาต้นไผ่เติบโตจะพุ่งตรงสูงขึ้นไปบนฟ้าประหนึ่งมีพลังพิเศษแฝงอยู่ จึงเชื่อกันว่าในต้นไผ่จะต้องเป็นสิ่งที่นำไปสู่ที่สถิตของเทพเจ้า

ความหมายของแถบห้าสี

กระดาษที่เขียนคำอธิษฐาน ทานาบาตะ

เมื่อพูดถึงเทศกาลทานาบาตะ เป็นเรื่องปกติที่จะเขียนคำอธิษฐานลงบนกระดาษแล้วแขวนไว้บนไม้ไผ่ กระดาษที่เขียนคำอธิษฐานนั้นเรียกว่า ทันซากุ (短冊 Tanzaku) คุณรู้หรือไม่ว่าสีของกระดาษนั้นมีความหมายที่แตกต่างกัน? เราจะแนะนำความหมายและที่มาของแถบกระดาษทั้งหมด 5 สี ที่สื่อความหมายแตกต่างกันไป ได้แก่ สีน้ำเงิน แดง เหลือง ขาว และดำ ซึ่งได้มาจากทฤษฎีหยินและหยางของจีน ทฤษฎีห้าธาตุหยินหยางเป็นแนวคิดที่ว่าทุกสิ่งในโลกธรรมชาติสามารถอธิบายได้โดยใช้ธาตุทั้งห้าคือ ไม้ ไฟ ดิน โลหะ และน้ำ สีทั้ง 5 สีนี้ยังมีความหมายอีกด้วย สีฟ้า(สีเขียว)หมายถึงไม้ สีแดงหมายถึงไฟ สีเหลืองหมายถึงดิน สีขาวหมายถึงทอง และ สีดำ(สีม่วง)หมายถึงน้ำ ในญี่ปุ่นใช้สีม่วงซึ่งถือเป็นสีชั้นสูงจึงนิยมใช้แทนสีดำ

  • สีฟ้า (สีเขียว) หมายถึง 仁 (คน) เป็นความสัมพันธ์ที่เกี่ยวกับคน เป้าหมายในชีวิต
  • สีแดง หมายถึง 礼 (กตัญญู) คือ ความกตัญญูต่อพ่อแม่และคนที่คุณรัก 
  • สีเหลือง หมายถึง 信 (เชื่อใจ) คือ เพื่อนฝูงและคนรอบข้าง
  • สีขาว หมายถึง 義 (ความชอบธรรม) คือ การปฏิบัติตามกฎ ทำหน้าที่ของคุณ
  • สีดำ(สีม่วง) หมายถึง 智 (ปัญญา) คือเรื่องเกี่ยวกับการเรียนและการงาน

อย่างไรก็ตาม ในญี่ปุ่นยุคใหม่ ผู้คนยังคงขอพรบนแถบกระดาษ แต่ผู้คนไม่ค่อยใส่ใจกับสีของแถบกระดาษ ในทางกลับกัน ความหมายของสีก็ต่างจากทฤษฎีห้าธาตุหยินหยาง บางครั้งก็ใช้แทนความหมายที่ต่างออกไปเช่น สีเขียวหมายถึงความก้าวหน้าในการเรียนและหน้าที่การงาน, สีเหลืองหมายถึงโชคลาภเงินทอง, สีแดงหมายถึงความสำเร็จ, สีชมพูหมายถึงความรัก, สีฟ้าหมายถึงความสุข แถบกระดาษและของประดับตกแต่งบนต้นไผ่ค่อยๆ มีความฉูดฉาดมากขึ้นซึ่งในช่วงเทศกาล ตามบ้านและร้านค้าต่างๆ จะประดับประดาด้วยกระดาษสีเหล่านี้ ทำให้ทั่วญี่ปุ่นเต็มไปด้วยสีสันสดใส หรืออาจจะพับเป็นลักษณะอย่างเช่น กิโมโนกระดาษเพื่อขจัดโรคภัยและโชคร้ายออกไป, กระเป๋ากระดาษเพื่อการไม่มีมีปัญหาเรื่องเงินทองและมีธุรกิจที่เจริญรุ่งเรือง, นกกระเรียนกระดาษเพื่อให้สมาชิกในครอบครัวมีอายุยืนยาว, ตาข่ายกระดาษเพื่อความสำเร็จในการจับปลาและเก็บเกี่ยวผลิตผลทางการเกษตร เป็นต้น กิ่งไผ่จะถูกวางไว้ที่สนามทางเข้าโรงเรียน สถานที่สำคัญต่างๆ รวมถึงทางเข้าบ้าน พอวันรุ่งขึ้นก็จะนำไปลอยน้ำ โดยเชื่อว่าสาวทอผ้าและชายเลี้ยงวัวก็จะดลบันดาลให้คำอธิษฐานบนกระดาษให้เป็นจริง

อาหารที่นิยมกินในวันทานาบาตะ

อาหารที่นิยมกินในวันทานาบาตะ

โซเมง (そうめん Somen) 

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

A post shared by IKU (@ikumi_0517)

โดยปกติคนญี่ปุ่นจะนิยมทานโซเมงในวันนี้ ในเมืองเซนได จังหวัดมิยางิ ยังคงมีการจัด "เทศกาลเซนไดทานาบาตะ" (仙台七夕まつり Sendai tanabata matsuri) ที่มีมายาวนานกว่า 400 ปี และโซเมงก็เป็นอาหารหลักของงานนี้ โดยมีการใช้ "โซเมนห้าสี" เหมือนกับแถบกระดาษที่เขียนคำอธิษฐานห้าสี ซึ่งเข้ากับเทศกาลทานาบาตะได้ดีเลยทีเดียว

ซาคุเบ (索餅 Sakubei) 

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

A post shared by よしえ (@yoshie19275)

เป็นขนมที่ทำโดยการบิดแป้งสาลีและแป้งเค้กข้าว นำไปทอดซึ่งจีนได้นำมาเผยแพร่ให้ญี่ปุ่นในสมัยราชวงศ์ถังเรียกว่า "มูกิ-นาวะ" ในจังหวัดนาราและยังคงได้รับความนิยมถึงตอนนี้

คารินโต (かりんとう Karinto) 

เป็นขนมที่กล่าวกันว่าคารินโตมีรากฐานมาจากขนมสเปน มีคารินโตมากมายในภูมิภาคโทโฮคุ จังหวัดอาคิตะมีคารินโตะที่มีรูปร่างเป็นแถบเหมือนใบไม้ ส่วนจังหวัดอิวาเตะมีคารินโตะที่มีรูปร่างเป็นเกลียว ซึ่งทั้งหมดนี้มีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของตัวเอง

สถานที่จัดงานทานาบาตะ

หลังจากสถานการณ์โควิดได้กลับเข้าสู่ปกติแล้วเทศกาลทานาบาตะที่เคยถูกยกเลิกไปก็จะกลับมาอีกครั้ง ส่วนจะมีที่ไหนบ้างนั้นมาดูสถานที่ยอดนิยมที่จัดเทศกาลทานาบาตะกัน

เทศกาลเซนไดทานาบาตะ (仙台七夕まつり Sendai tanabata matsuri)

เทศกาลเซนไดทานาบาตะ จะกลับมาจัดอีกครั้งในรอบสี่ปีหลังจากถูกยกเลิกไปในช่วงเกิดภัยพิบัติโควิด-19 สถานที่หลักในการจัดงานคือย่านช้อปปิ้งใกล้กับสถานีเซนไดและบริเวณโดยรอบเมืองทั้งเมืองจะถูกย้อมด้วยสีสันของทานาบาตะ

กำหนดกาล เทศกาลเซนไดทานาบาตะประจำปี 2023 
สถานที่ : รอบสถานี Sendai วันที่ : 6 - 8 สิงหาคม 2023
[งานดอกไม้ไฟ]
สถานที่: สวน Sendai Nishi Park วันที่ 5 สิงหาคม เวลา 19:15-20:15 น.
[กิจกรรมทานาบาตะตอนกลางคืน]  
สถานที่:ปราสาทเซนได 6 - 8 สิงหาคม เวลา 18:00-20:00 น.

เทศกาลโชนัน ฮิระสึกะ ทานาบาตะ (湘南ひらつか七夕まつり Shonan hiratsuka tanabata matsuri)

เทศกาล Shonan Hiratsuka Tanabata ซึ่งถูกยกเลิกในวิกฤตโควิด-19 ได้ออกกำหนดการว่างานจะจัดขึ้นในปี 2023 เป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี ตั้งแต่วันที่ 7 - 9 กรกฎาคม 2023 ในงานก็จะมีร้านค้าและมีขบวนพาเหรดอีกด้วย

สถานที่ : สถานี ฮิระสึกะ (Hiratsuka Station)
วันที่ : 7 - 9 กรกฎาคม 2023 

เทศกาลปล่อยโคมทานาบาตะ (七夕祭りスカイランタン Tanabata matsuri sukairantan)

ปล่อยโคมทานาบาตะ

ที่บ้านเราจะปล่อยโคมในวันลอยกระทงแต่ที่ญี่ปุ่นมีงานปล่อยโคมในวันทานาบาตะด้วยนะ แต่ค่าเข้าร่วมกิจกรรมแอบแพงไปนิด เอาไว้เป็นตัวเลือกเผื่อใครสนใจ

วันที่ : 14 - 16 กรกฎาคม 2023 
สถานที่ Tokyo : Shinjuku Sumitomo Building Triangle Square 
วันที่ : 21 - 23 กรกฎาคม 2023
สถานที่ Kyoto : Jōyō gorigori no oka (Kizugawa Park)  
วันที่ : 28- 30 กรกฎาคม 2023
สถานที่ Aichi : Aichi Sky Expo 
วันที่ : 25 - 27 สิงหาคม 2023 

ข้อมูลเพิ่มเติมและซื้อบัตรได้ที่ 七夕スカイランタン祭り2023

นักเขียน

WeXpats
นำเสนอบทความที่หลากหลาย ตั้งแต่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับการใช้ชีวิต การทำงาน และการศึกษาต่อในประเทศญี่ปุ่น รวมไปจนถึงบทความแนะนำเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่น

บทความที่เกี่ยวข้อง 関連記事

บทความพิเศษ 特集

บทความยอดนิยม 人気記事

โซเชียลมีเดีย ソーシャルメディア

นำเสนอข้อมูลล่าสุดในญี่ปุ่นใน 9 ภาษา!

  • English
  • 한국어
  • Tiếng Việt
  • မြန်မာဘာသာစကား
  • Bahasa Indonesia
  • 中文 (繁體)
  • Español
  • Português
  • ภาษาไทย
TOP/ วัฒนธรรมญี่ปุ่น/ ฤดูกาลและเทศกาล/ ทานาบาตะมัตสึริ (七夕祭りTanabata Matsuri) หรือเทศกาลแห่งดวงดาว

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงการเข้าถึงและคุณภาพของเว็บไซต์ของเรา โปรดคลิก "ยอมรับ" เพื่อยอมรับการใช้คุกกี้ของเรา สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้คุกกี้ของเราโปรดคลิกที่นี่

นโยบายการใช้คุกกี้