เรื่องแปลกใจในญี่ปุ่น ตอนที่ 1

เรื่องแปลกๆในญี่ปุ่นมีมากมายเหลือเกิน จะให้เขียนทั้งหมดรวดเดียวก็กลัวจะยาวเกินไป บทความนี้จะเป็นตอนเริ่มแรกของการมาอาศัยอยู่ญี่ปุ่น การมาครั้งแรกนั้นมีอะไรที่ทำให้แปลกใจบ้าง มาดูกันเลยว่าเหมือนกับการมาญี่ปุ่นครั้งแรกของคุณมั้ย?

■ อิตาดาคิมัส!!

いただきます!อิตาดาคิมัส เป็นคำพูดที่ใช้ทุกครั้งเวลาก่อนที่จะเริ่มทานอาหาร แปลได้ประมาณว่า จะกินแล้วนะคะ/ครับ ถือว่าเป็นมารยาทเบื้องต้นในการทานอาหารอย่างหนึ่ง สำหรับเด็กที่เพิ่งมาญี่ปุ่นครั้งแรก และพูดภาษาญี่ปุ่นไม่ได้เลยนั้น ต้องจดในกระดาษและถือไปที่ห้องทานอาหารทุกครั้ง และที่ยากกว่าคือกินเสร็จต้องพูดคำว่า ごちそうさまでした!โกจิโซสะมะเดชิตะ แปลว่า ขอบคุณสำหรับอาหารมื้อนี้ คำนี้ใช้เวลาท่องจำกว่าหนึ่งอาทิตย์เลยทีเดียว

■ จานใหญ่และเยอะ

อาหารที่นี่มีขนาดใหญ่และมีหลายอย่างด้วยจัดเป็นเซต ข้าว, อาหาร, สลัด, ซุป และ ของว่าง ถ้าเป็นราเมงก็คือถ้วยใหญ่มาก ถ้วยปกติของเค้าเหมือนจะใหญ่กว่าถ้วยพิเศษบ้านเราอีก และเน้นเส้นเป็นส่วนใหญ่ เนื้อมีวางโปะหน้าให้สวยงามเบาๆ บางครั้งในเซตมีข้าวแถมมาด้วยแบบงงๆ คือเค้าอาจจะกินเป็นปกติแบบนี้ แต่สำหรับเด็กไทยที่กินแต่ข้าวราดแกงมาตลอดนั้น ค่อนข้างตกใจว่าจะต้องกินให้หมดนี้เลยเหรอ ในตอนแรกบอกตรงๆเลยว่ากินไม่ไหว ต้องยัดลงไป กินให้หมดเพราะจะได้ไม่เป็นการเสียมารยาท แต่พออยู่ไปอยู่มากระเพาะขยาย ตอนนี้กลับไปกินข้าวที่ไทยจานเดียวไม่อิ่มไปซะละ

■ อาหารดิบ

ตอนนี้ทุกคนคงรู้จักปลาดิบ ซูชิ ซาชิมิ กันแล้ว เพราะที่เมืองไทยก็มีให้รับประทานทั่วไป แต่เรื่องการทานอาหารดิบที่ญี่ปุ่นนั้นไม่ได้มีแค่ปลาเท่านั้น เนื้ออื่นๆก็ทานดิบนะ เช่น เนื้อวัว เนื้อม้า เนื้อกวาง และเนื้อไก่‼ เนื้อไก่นี่แอบดูน่ากลัวถ้าเราคิดถึงตอนไข้หวัดนกระบาด หรือไม่ก็คิดถึงสภาพความเป็นอยู่ของไก่บ้านเราก็ไม่ค่อยอยากกินแล้ว แต่ที่ญี่ปุ่นไก่ที่จะนำมาทำซาชิมินั้นจะถูกเลี้ยงมาอย่างดีสำหรับทำซาชิมิโดยเฉพาะ ไม่ใช่เนื้อไก่ที่ขายทั่วไปตามซูเปอร์มาร์เกต สะอาดปลอดภัยและไม่ได้หากินได้ทุกร้าน ต้องเป็นร้านเฉพาะเท่านั้น ดังนั้นก็สามารถมั่นใจและลองทานได้เมื่อมาญี่ปุ่นนะ ส่วนอาหารแปลกๆของญี่ปุ่นสามารถดูได้จากบทความอาหารญี่ปุ่นสุดแปลก เปิบพิสดาร ท้าให้ลอง!

■ ซดบะหมี่เสียงดัง

เวลาเข้าร้านราเมงญี่ปุ่นจะได้ยินเสียงซดบะหมี่ของคนญี่ปุ่นทั้งชายและหญิงดัง ซู้ด ซู้ด แบบไม่เกรงใจคนรอบข้างเลยจริงๆ แต่ต้องเข้าใจเรื่องนึงคือการซดบะหมี่เสียงดังของคนญี่ปุ่นถือเป็นมารยาทอย่างหนึ่งซึ่งต่างจากประเทศอื่นที่มักจะทานแบบไม่มีเสียง การทานเสียงดังถือว่าเสียมารยาท แต่การซดบะหมี่เสียงดังที่นี่ถือเป็นมารยาทให้คนทำรู้ว่าบะหมี่ของเค้าอร่อยมาก มาร้านบะหมี่ที่ญี่ปุ่นคราวหน้าอย่าลืมซดเสียงดังๆให้เจ้าของร้านชื่นใจนะ แต่บอกเลยว่าไม่ได้ทำได้ง่ายๆ เพราะคนไม่เคยทำแบบเราๆซดทีกระจาย บางทีไปโดนคนข้างๆด้วย เพราะฉะนั้นโปรดระวัง

■ กินราเมงกับข้าว

เรายังอยู่กันที่ร้านราเมง ถ้าคุณไปร้านราเมงตอนกลางวันที่ขายอาหารเป็นเซตไม่ต้องแปลกใจว่าเค้าให้ข้าวสวยมาด้วย! ตอนแรกมาถึงกับงงเลยทีเดียว กินข้าวกับอะไร? พอหันไปดูลุงข้างๆ ลุงกินข้าวกับราเมงจ้าา สำหรับคนไทยราเมงอย่างเดียวก็คงพอแล้ว หรือถ้าเราจะกินข้าวก็จะกินกับเกาเหลาอะไรแบบนี้ ที่นี่กินราเมงกับข้าว สร้างความประหลาดใจให้คนต่างชาติเหลือเกิน ถ้าคุณไม่ทานข้าวก็สามารถบอกที่ร้านได้ว่าไม่เอาข้าวนะ จะได้ไม่สิ้นเปลืองทรัพยากรโลก (แต่คิดเงินเท่าเดิมนะ)

■ ร้านร้อยเยน

ร้านร้อยเยนตอนนี้เกือบจะกลายเป็นร้านสะดวกซื้อเหมือนเซเว่นแล้ว บางทีอาจจะมีมากกว่าด้วยทั้งของใช้ในบ้าน เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องเขียน ของเล่น แถมตอนนี้ยังมีอาหารเครื่องดื่มขายอีกด้วย และราคาก็ร้อยเยนเท่านั้น!! ใครบอกว่าของญี่ปุ่นแพง ค่าครองชีพแพง หากคุณต้องการที่จะประหยัดในการใช้ชีวิตที่นี่ ร้านร้อยเยนก็คือคำตอบของคุณ

■ ชักโครกอัตโนมัติ

ความช็อกของเด็กไทยอีกเรื่องคือห้องน้ำ ความโหดร้ายของเทคโนโลยีที่คนอ่านภาษาญี่ปุ่นไม่ออกต้องพบเจอเมื่อมาญี่ปุ่นครั้งแรก ถึงแม้ตอนนี้จะเริ่มมีภาษาอังกฤษกำกับแล้วบางพื้นที่ แต่ส่วนใหญ่ก็ยังเป็นแจแปนนีสโอนลี่ แล้วเราควรจะกดปุ่มไหนอะไรยังไงละ คงจะบอกได้เฉพาะที่สำคัญคร่าวๆประมาณนี้

เขียน

อ่าน

ความหมาย

Oto

ทำนองเพลงที่เล่นเพื่อปกปิดเสียงขับถ่าย

おしり

O-shiri

หัวฉีดทำความสะอาดด้านหลัง

ビデ

Bi-de

หัวฉีดทำความสะอาดด้านหน้า

To-me

หยุด

水勢

Sui-sei

ระดับความแรงน้ำ (ปรับระดับด้วยการกดเครื่องหมาย + หรือ - )

流す

Na-ga-su

ปุ่มกดชักโครกหลังการขับถ่าย

■ อาบน้ำรวม

ถึงเวลาอาบน้ำแล้ว สำหรับคนไทยที่เพิ่งมาครั้งแรกคงจะรู้สึกแปลกๆกับการอาบน้ำรวมเพราะที่ไทยเราจะอาบน้ำของใครของมันไม่รวมกับใคร แต่ที่ญี่ปุ่นการอาบน้ำรวม การลงบ่อออนเซ็นก็เป็นอีกหนึ่งวัฒนธรรมที่น่าสนใจของญี่ปุ่น สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ มารยาทในการแช่ออนเซ็นและโรงอาบน้ำสไตล์ญี่ปุ่น

■ รถโดยสารตรงต่อเวลา

อยู่เมืองไทยเราจะเคยชินกับการนั่งรถโดยสารที่ไม่ค่อยจะตรงเวลาเท่าไหร่นัก ยิ่งรถเมล์ด้วยแล้วละก็ บางทีก็ยืนรอกันแบบไร้จุดหมายเพราะไม่รู้จะมาเมื่อไหร่ และจะถึงที่หมายเมื่อไหร่ แต่ที่ญี่ปุ่นไม่ว่าจะเป็นรถโดยสารแบบไหน ไม่ว่าจะเป็นรถไฟ, รถเมล์ หรือชินกังเซน ตรงเวลามาก อย่าได้หวังว่าเกินเวลามาแค่นาทีเดียวแล้วรถจะรอคุณเหมือนที่ไทย ไม่มีเลย ทุกอย่างตรงเวลามาก หรือแม้หากว่าเกิดเหตุสุดวิสัยทำให้รถไฟล่าช้าไปเพียงไม่กี่นาที ที่ญี่ปุ่นก็จะมีการขอโทษขอโพยกันหนักมาก จนงงว่าจะขอโทษอะไรกันขนาดนั้น

■ อินคัง

อีกเรื่องที่คนมาอยู่ที่นี่แรกๆจะงงคือการใช้อินคังแทนลายเซ็นในการทำธุรกรรมต่างๆที่ญี่ปุ่น ถ้าไม่มีอินคังก็ไม่สามารถทำธุรกรรมอะไรได้เป็นเรื่องที่ชาวต่างชาติทุกคนงงว่าทำไมเค้าต้องไปทำตราแสตมป์ชื่ออันนี้และนี่ก็เป็นอีกข้อถกเถียงในญี่ปุ่นเพราะแม้แต่คนญี่ปุ่นบางคนเองก็ไม่อยากใช้อินคังแล้วเพราะยุ่งยาก และในการทำธุรกรรมบางที่ก็อนุโลมให้ใช้ลายเซ็นได้บ้างแล้ว แต่ก็ยังไม่แพร่หลายต้องรอดูต่อไปว่าเมื่อไหร่การใช้อินคังจะถูกยกเลิกในญี่ปุ่น หากต้องการทราบข้อมูลของอินคังเพิ่มเติมสามารถดูได้จากบทความ “อินคัง” ตราประทับที่มีความสำคัญมากสำหรับการใช้ชีวิตในญี่ปุ่น

จบไปแล้วกับเรื่องแปลกใจในญี่ปุ่นตอนแรกซึ่งมั่นใจว่าคนไทยหลายคนคงรู้สึกไม่ต่างกัน สิบเรื่องนี้เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นของการเข้ามาประเทศญี่ปุ่นครั้งแรก เมื่อเราอยู่ต่อสักพักเราก็จะเจอเรื่องแปลกๆอีกมากมายในการใช้ชีวิตที่นี่แล้วพบกันใหม่ในเรื่องแปลกใจในญี่ปุ่นตอนต่อไป เรื่องแปลกใจในญี่ปุ่น ตอนที่ 2

นักเขียน

WeXpats
นำเสนอบทความที่หลากหลาย ตั้งแต่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับการใช้ชีวิต การทำงาน และการศึกษาต่อในประเทศญี่ปุ่น รวมไปจนถึงบทความแนะนำเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่น

บทความพิเศษ 特集

บทความยอดนิยม 人気記事

โซเชียลมีเดีย ソーシャルメディア

นำเสนอข้อมูลล่าสุดในญี่ปุ่นใน 9 ภาษา!

  • English
  • 한국어
  • Tiếng Việt
  • မြန်မာဘာသာစကား
  • Bahasa Indonesia
  • 中文 (繁體)
  • Español
  • Português
  • ภาษาไทย
TOP/ วัฒนธรรมญี่ปุ่น/ ชีวิตประจำวันของคนญี่ปุ่น/ เรื่องแปลกใจในญี่ปุ่น ตอนที่ 1

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงการเข้าถึงและคุณภาพของเว็บไซต์ของเรา โปรดคลิก "ยอมรับ" เพื่อยอมรับการใช้คุกกี้ของเรา สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้คุกกี้ของเราโปรดคลิกที่นี่

นโยบายการใช้คุกกี้