ช่วงวันหยุดโกลเด้นวีคหลายคนคงได้เดินทางท่องเที่ยวทั้งต่างประเทศและในประเทศญี่ปุ่น ผู้เขียนได้มีโอกาสไปเป็นอาสาสมัครเก็บชาที่จังหวัดชิซุโอกะ (静岡 Shizuoka) ซึ่งเป็นสถานที่ซึ่งเป็นแหล่งผลิตชาเขียวออร์แกนิคที่มีชื่อเสียงอีกที่ในประเทศญี่ปุ่น ในช่วงตั้งแต่ช่วงฤดูใบไม้ผลิไร่ชาที่นี่จะเต็มไปด้วยสีเขียวชอุ่มพร้อมสำหรับการเก็บเกี่ยวใบชาครั้งแรก ครั้งนี้เราจึงอยากจะมาเชิญชวนให้ไปเที่ยวชิซุโอกะเพื่อชมไร่ชาพร้อมบรรยากาศแสนสวยและดื่มด่ำกับรสชาติชาเขียวจากแหล่งชาคุณภาพดีกันดูสักครั้ง
สารบัญ
■ ชาญี่ปุ่น ต้องจังหวัดชิซุโอกะ
■ แนะนำไร่ชาออร์แกนิคในจังหวัดชิซุโอกะ
■ เปิดประสบการณ์เก็บชา พักโฮมสเตย์ ที่ญี่ปุ่น
■ สรุป
■ ชาญี่ปุ่น ต้องจังหวัดชิซุโอกะ
จังหวัดชิซุโอกะ (静岡 Shizuoka) นับว่าเป็นแหล่งกำเนิดชาที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในญี่ปุ่น จังหวัดชิซุโอกะเป็นพื้นที่ตั้งของภูเขาไฟฟูจิอันเป็นสัญลักษณ์ของประเทศญี่ปุ่น มีชื่อเสียงเรื่องการปลูกชาเขียว โดยทั่วไปแล้วชาจะเติบโตได้ดีในสภาพอากาศที่อบอุ่นและมีฝนตกชุก จังหวัดชิสึโอกะและภูมิภาคโทไกมีสภาพอากาศอบอุ่นตลอดทั้งสี่ฤดูเนื่องจากอิทธิพลของกระแสน้ำคุโรชิโอะที่ไหลผ่านทะเลคุมาโนะและทะเลเอ็นชู กระแสลมอุ่นและชื้นไหลมาจากทะเลนันไค ทำให้สภาพอากาศเหมาะสำหรับการปลูกชา จึงผลิตชาที่มีคุณภาพได้มากเป็นอันดับ 1 ในญี่ปุ่นติดต่อกันเป็นเวลานาน จากคำกล่าวที่ว่าใบชาที่ดีมีคุณภาพจะต้องมาจาก ภูมิอากาศ ดิน น้ำและที่สำคัญคือการดูแลเอาใจจากเกษตรกรที่ดี อีกทั้งขั้นตอนเก็บเกี่ยวใบชาจะคัดเฉพาะยอดชาที่มีขนาดเท่าๆ กันจากต้นชาในช่วงฤดูใบไม้ผลิ (เมษายน-พฤษภาคม) เป็นต้นฤดูกาลเก็บเกี่ยวที่ชาวญี่ปุ่นเรียกว่า 一番茶 (Ichiban cha) โดยเชื่อกันว่าช่วงนี้เป็นช่วงเวลาที่ชาสะสมสารอาหารที่ดีเอาไว้ตลอดฤดูหนาวทำให้ใบชาช่วงต้นฤดูกาลมีกลิ่นหอม รสชาติดี และเป็นชาที่มีคุณภาพที่ดีที่สุด
บทความแนะนำ
■ แนะนำไร่ชาออร์แกนิคในจังหวัดชิซุโอกะ
มีไร่ชามากมายในจังหวัดชิซุโอกะ แต่ในครั้งนี้เราจะพาทุกท่านไปรู้จักกับไร่ชา NATURALITEA ไร่ชาออร์แกนิคที่มีประวัติยาวนานกว่าสี่ทศวรรษ ปรัชญาในการขับเคลื่อนธุรกิจไร่ชาจาก Toshiaki Kinezuka ที่ว่า "เกษตรกรที่ดีรู้ดีว่าการจะผลิตใบชาที่ดีมีคุณภาพนั้นมาจากธรรมชาติและการดูแลที่ดี รสชาติของชาออร์แกนิคของที่นี่จึงมาจากใบชาที่ดีครึ่งหนึ่งและหัวใจของเกษตรกรอีกครึ่งหนึ่ง" ความสมดุลระหว่างการเกษตร และธรรมชาติเป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อน การปลูกชาออร์แกนิคของที่นี่มีความสมดุลของการดูแลจากธรรมชาติ ให้แมลงที่กินสัตว์อื่น เช่น แมงมุม ตั๊กแตน คอยควบคุมศัตรูพืชในขณะที่ดึงดูดนกและสัตว์เลื้อยคลานมาช่วยปรับปรุงความหลากหลายทางชีวภาพในไร่ชา ซึ่งเป็นวิธีการทำฟาร์มที่ปฏิบัติกันมานานนับพันปี ก่อนที่จะมีการใช้ปุ๋ยและสารเคมีอื่นๆ น่าเสียดายที่วิธีการนี้ถูกละทิ้งไปโดยส่วนใหญ่เพื่อแสวงหาการผลิตชาให้ได้มากที่สุดโดยใช้เวลาและแรงงานน้อยที่สุด โดยที่แห่งนี้ไม่ยอมจำนนต่อแรงกดดันของอุตสาหกรรม แต่เลือกที่จะกลับไปสู่รากเหง้าของการเกษตรในขณะที่พัฒนาไปพร้อมกับฟาร์มครอบครัวเกือบสิบแห่งในภูมิภาคนี้ ที่มีส่วนร่วมเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการปลูกชาออร์แกนิคที่มีคุณภาพสูงสุด ด้วยการดูแลที่เหมาะสมทำให้ชาออร์แกนิคของที่นี่นับว่ามีคุณภาพที่ดีมากได้รับการยอมรับจากนานาชาติ
■ เปิดประสบการณ์เก็บชา พักโฮมสเตย์ ที่ญี่ปุ่น
การเดินทางจากโตเกียวไปที่ไร่ชา NATURALITEA จากโตเกียวใช้เวลากว่า 5 ชั่วโมงโดยรถไฟโดยสารธรรมดาและรถบัส โดยจะต้องไปลงที่สถานีที่ใกล้ที่สุดคือ สถานีรถไฟ Fujieda และนั่งรถบัสสาย Yuraku ที่ป้ายเบอร์ 3 ต่อไปยัง Hongō fumonji mae ต้องบอกก่อนว่าแถวนั้นหาร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหารได้ยากมาก กรุณาเตรียมเสบียงให้พร้อม และรถบัสก็มีน้อยมาก ต้องจัดตารางเดินทางให้ดี
มาถึงที่หมายแล้ว มีป้ายยินดีต้อนรับเข้าสู่เมือง Fujieda แนะนำสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย
เมื่อถึง Hongō fumonji mae เนื่องจากเราไม่ได้ทานข้าวมาเลยหาร้านอาหารที่ใกล้ที่สุดได้ที่นี่ เป็นจุดพักนักเดินทาง มีร้านอาหารร้านเดียว โชคดีมากที่ไม่หยุดโกลเด้นวีค
เมนูแนะนำของร้านคือ โคร็อกเกะ มาเป็นเซตแบบนี้
หลังจากทานเสร็จเราก็เดินไปที่พักซึ่งอยู่ห่างไปอีกกิโลกว่า โหดมาก แต่ด้วยบรรยากาศดี วิวสวยทำให้เราเดินกันชิลๆไปจนถึงที่พัก
เครดิตภาพ: https://naturalitea.com/
พอไปถึงเราก็จะเจอทามิโกะซัง (คนซ้ายสุด) ลูกสาวเจ้าของไร่ที่มีฝีมือปรุงชาที่จะออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ของที่นี่ และเขาถามพวกเราว่าจะไปไร่ชากัน อยากไปด้วยกันมั้ย ณ.ตอนนั้นตอบแบบไม่คิดเลยว่า ไปค่าาา!!
หลังจากที่เราเอาของไปเก็บสักพักก็มีราชรถมารับเพื่อเดินทางไปไร่ชา
ราชรถคันนี้ น้องฟ้า เป็นรถที่เราต้องใช้ในการเก็บใบชาทั้งหมดเพื่อนำไปที่โรงงาน
ก่อนที่จะเริ่มเก็บชาก็มีอินสตรัคเตอร์มาคอยสอนว่าจะต้องทำอะไรบ้าง
เราต้องเอาสิ่งไม่พึงประสงค์เช่นพวกหญ้า วัชพืช และเกสรดอกไม้ต่างๆที่ปลิวมาที่บนใบชาออกก่อนที่จะใช้เครื่องตัด เพราะถ้าสิ่งพวกนี้เข้าไปปะปนกับใบชาจะทำให้รสชาติของใบชาแย่ลง
เริ่มงานกันเลย!!
นี่คือเครื่องตัดใบชา ทุ่นแรงงาน เรามีโอกาสได้ลองขับด้วย สนุกมากเหมือนขับรถของเล่นในสวนสนุกเลย ขอบคุณคาซุกิซังที่ยอมให้ลองขับนะคะ อิอิ
วิธีการคือ ต้องเอาถุงใส่ไว้ด้านหลัง และขับไปตามแถวชา ตัดให้ใบชาเข้ามาในถุง
พอตัดได้สักพักก็ต้องเอาออกเพื่อเปลี่ยนถุงใส่ใบชาใหม่
ถุงที่ได้ใบชาที่ตัดเรียบร้อยแล้วก็ต้องแบกไปใส่หลังรถน้องฟ้าที่เรานั่งมา ใบชารวมกันเยอะๆในถุงก็แอบหนักเหมือนกันนะ
หลังจากที่ใบชาเต็มรถแล้ว เราก็ต้องนำใบชาที่ได้มาไปที่โรงงานทันทีเพื่อทำการนึ่งซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในกระบวนการเริ่มต้นของชาเขียวญี่ปุ่น เพื่อป้องกันการเกิดออกซิเดชันซึ่งเป็นวิธีที่ใบจะคงสีเขียวไว้ได้เวลาในการนึ่งมีผลอย่างมากต่อรสชาติ กลิ่น และรูปลักษณ์ของผลิตภัณฑ์
หลังจากนั้นก็ต้องชั่งใบชา คำนวณว่าวันนี้เราเก็บใบชามาได้เท่าไหร่ ซึ่งผลงานในวันนี้คือ 1,010 กิโลกรัม โดยที่จะต้องเขียนไว้บนบอร์ด
โดยปกติงานจะเริ่ม 8 โมงเช้าเลิกประมาณ 5 โมงเย็น ในครั้งนี้กิจกรรมของพวกเราก็เหมือนเดิมคือการเก็บชาทั้งสองวัน โดยที่เลิกงานกลับบ้านโฮมสเตย์แล้วก็จะมีอาหารเตรียมไว้ให้ โดยช่วงนี้จะเป็นอาหารวีแกนเนื่องจากเจนนี่ อาสาสมัครชาวเยอรมันเป็นวีแกนไม่กินเนื้อ ทำให้พวกเราได้กินวีแกนไปด้วยเลย อาหารวีแกนถ้าทำอร่อยก็กินได้นะ กราบขอบพระคุณมิจิโยซังสำหรับอาหารทุกมื้อระหว่างไปอยู่ที่นั่น
หลังจากทานอาหารเสร็จเราก็จะมีการจิบชามากมายของที่นี่ มีเยอะมาก จิบชาพร้อมเรียนรู้เรื่องชาไปด้วย ชาญี่ปุ่นนี่มีเรื่องราวมากมายที่น่าเขียนเป็นบทความ สนุกมากใครชอบชาต้องมาที่นี่เลย ในรูปด้านซ้ายเป็นชาที่ผ่านกระบวนการมาหมดแล้ว โดยที่ทางขวาที่เห็นเส้นยาวๆคือชาดิบที่เรียกว่า 荒茶 (Aracha)
อันนี้คือชากะเพราที่ทามิโกะซังปรุงขึ้นมา บอกตรงๆว่างงมากว่าเขาเอากะเพรามาผสมกับชาได้ยังไง ไม่ได้คาดหวังกับรสชาติ แต่พอได้ลองชาดำญี่ปุ่นผสมกับกะเพรา (ถุงสีแดง) บอกเลยว่ามันเข้ากันได้แบบไม่น่าเชื่อ ชอบมากจนต้องซื้อกลับมากินต่อที่บ้าน น่าจะเป็นไอเดียดีๆสำหรับผู้ประกอบการชาไทยนะ อยากให้ลองทำดู
หลังจากคุยกันสักพัก เลน่าอาสาสมัครชาวเยอรมันอีกคนก็ไปหยิบหนังสือเกี่ยวกับชามาให้ดู เป็นชาชนิดต่างๆ มากมายหลายชนิด ที่เขียนไว้พร้อมกับบอกว่าชามาจากไหน รสชาติเป็นอย่างไร ทนวัชพืชทนแมลงไหม นั่งอ่านแล้วน่าสนใจมาก ละเอียดมากจริงๆ เป็นไอเดียดีๆที่น่าลองทำ
พอถึงเวลาเข้านอนทุกคนก็แยกย้าย โดยพวกเราได้นอนที่ชั้นสองของบ้านแบบญี่ปุ่นโบราณแบบนี้ นอนฟุตงบนเสื่อทาทามิ ชอบมาก
ภาพนี้คือชั้น 1 ของบ้านที่เราพัก เป็นที่รวมตัวทานอาหารกัน
นี่คือสภาพด้านนอกของบ้าน อาสาสมัครชาวเยอรมันสองคนลากโต๊ะไปกลางหญ้านั่งอาบแดดอยู่
ก่อนกลับเราก็มาถ่ายรูปเป็นที่ระลึกกันหน่อยหลังจากตรากตรำเป็นชาวไร่แบกชาด้วยกันมา 2 วัน เจนนี่จะอยู่ที่นี่ถึงแค่สิ้นเดือนพฤษภาคมส่วนเลน่ายังอยู่ที่นี่ต่ออีกหลายเดือน พวกเราก็ต้องกลับโตเกียวเพื่อมาทำงานต่อแล้ว
■ สรุป
สำหรับใครที่สนใจมาเที่ยวญี่ปุ่นเพื่อเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ พร้อมเรียนรู้วัฒนธรรมเราขอแนะนำให้ลองมาเป็นอาสาสมัครที่ไร่ชา มาลองเป็นชาวไร่เก็บชาญี่ปุ่น พักโฮมสเตย์แบบเราดูนะ คนที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่ NATURALITEA กรอกรายละเอียดว่าอยากจะมาทัวร์ไร่ชา, พักเกสเฮาส์, อาสาสมัคร (แบบเรา) บอกได้เลยว่าเป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่ที่สนุกมาก ปีหน้าถ้าไม่ติดอะไรอยากจะมาเก็บชาอีกรอบ มาด้วยกันนะ!!