การทำงานในประเทศญี่ปุ่น เมื่อคุณมีวีซ่าทำงานที่ญี่ปุ่นแล้ว การใช้ชีวิตที่ญี่ปุ่นซึ่งแต่ละคนมีไลฟ์สไตล์ที่ไม่เหมือนกัน แต่แน่นอนคือการอยู่ญี่ปุ่นระยะยาวต้องจ่ายภาษีเหมือนกับคนทำงานคนอื่น ซึ่งเราได้อธิบายว่าเงินที่ต้องถูกหักออกไปจากเงินเดือนมีอะไรบ้างในบทความก่อน ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือเงินบำนาญในญี่ปุ่น หรือ เน็งคิง (年金 Nenkin)
สารบัญ
- เน็งคิง คืออะไร
- ประเภทของเน็งคิง
- เงื่อนไขการได้รับเงินบำนาญ
- การขอเงินบำนาญคืนสำหรับชาวต่างชาติที่กลับประเทศ
■ เน็งคิง คืออะไร
ระบบเงินบำนาญในญี่ปุ่น หรือ ที่เรียกกันติดปากว่า เน็งคิง (年金 Nenkin) อาจจะมีหลายๆคนเข้าใจว่า รัฐบาลญี่ปุ่นเลี้ยงดี แก่แล้วมีเงินเดือนให้ จริงๆแล้วไม่ใช่นะคะ คำว่าของฟรีไม่มีในโลกยังใช้ได้เสมอ สำหรับเงินบำนาญนี้ก็เช่นเดียวกันค่ะ บุคคลที่จะมีสิทธิ์รับเงินบำนาญหลังเกษียณ หรือ เน็งคิง ก็คือ คนที่สมัครเข้าระบบและจ่ายเงินสะสมติดต่อกันจนครบระยะเวลาที่กำหนด (ปัจจุบันอยู่ที่10ปี) จึงจะมีสิทธิ์รับเงินบำนาญ กล่าวง่ายๆคือ เป็นระบบเงินออมที่รัฐบาลจัดขึ้นมาช่วยเหลือประชาชนในประเทศนั่นเอง
บทความแนะนำ
■ ประเภทของเน็งคิง
ระบบเงินบำนาญของรัฐบาลญี่ปุ่นมี 2 แบบ
1.国民年金 (Kokumin Nenkin) เงินบำนาญแห่งชาติ
▫️ถือเป็นเงินบำนาญขั้นพื้นฐานที่รัฐบาลญี่ปุ่นอยากให้ทุกคนมีเก็บไว้ค่ะ
▫️บุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 20ปี -60ปี และอาศัยอยู่ในประเทศญี่ปุ่นทุกคน (ไม่จำเป็นต้องมีสัญชาติญี่ปุ่น) สามารถสมัครเข้าระบบนี้ได้ค่ะ
▫️ชำระเข้าระบบเป็นจำนวนคงที่ ไม่ขึ้นกับรายได้ โดยในปี 2018 กำหนดให้ชำระเดือนละ 16,340เยน หรือจะรวบรวมชำระเป็นก้อนก็ได้ค่ะ
2.厚生年金 (Kousei Nenkin) เงินบำนาญลูกจ้าง
▫️ถือเป็นเงินบำนาญเพิ่มเติมจาก เงินบำนาญแห่งชาติ เปรียบเสมือนเงินเพิ่มไปจากบำนาญอันแรก
▫️ผู้ที่จะเข้าระบบเงินบำนาญสวัสดิการนี้ได้ คือ พนักงานบริษัท จะเป็นพนักงานบริษัท หรือพาร์ทไทม์ ก็ได้ และมีรายได้ตามเงื่อนไขการจ่ายประกันสังคม
▫️การชำระเงินเข้าระบบนี้ ตามกฎหมายแล้วจะหักจากเงินเดือนของพนักงานครึ่งหนึ่ง และทางบริษัทจะรับผิดชอบจ่ายอีกครึ่งหนึ่งให้ค่ะ และจะต้องชำระเท่าไหร่นั้น แปรผันตามรายได้เฉลี่ยของเดือน 4-6 ของปีนั้นๆค่ะ เช่น รายได้เฉลี่ย 200,000 เยน ต้องชำระทั้งหมดประมาณ 35,000 เยน หักจากเงินเดือน 17,500 เยน เงินที่หักจากเงินเดือนไปนั้น จะถุกแบ่งเป็น2ส่วน เข้ากองเงินบำนาญแห่งชาติ และ เงินบำนาญลูกจ้าง ส่วนใครอยากมีเงินบำนาญเพิ่มเติมอีก ก็สามารถทำประกันเงินบำนาญกับบริษัทเอกชนเพิ่มได้เช่นกัน ซึ่งเงื่อนไขการชำระเงินและการได้รับเงินบำนาญก็จะแตกต่างกันไปตามแต่ละบริษัทและผลิตภัณฑ์การเงินนั้นๆ สำหรับคุณแม่บ้านที่อยากมีเงินบำนาญลูกจ้าง 厚生年金 (Kousei Nenkin) ของตัวเองเพิ่มด้วยนั้น คุณแม่บ้านจะต้องทำงาน และมีรายได้เป็นของตัวเองมากกว่าปีละ 1,300,000 เยนต่อปี (1,060,000เยน ในบางกรณี) ถ้าคุณแม่บ้านมีรายได้ไม่เกิน 1,300,000 เยนต่อปี (บางกรณี 1,060,000เยนต่อปี)และคุณสามีนำคุณแม่บ้านไปลดหย่อนภาษี(扶養 Fuyou) แปลว่าคุณแม่บ้านจะมี เงินบำนาญแห่งชาติ หรือ 国民年金 (Kokumin Nenkin) เป็นของคุณแม่บ้านเองค่ะ เพราะทางบริษัทของคุณสามีจะชำระเงินบำนาญส่วนนี้ให้ด้วย ส่วนคุณแม่บ้านที่สามีทำกิจการส่วนตัว ถ้าต้องการมีเงินบำนาญก็สามารถไปสมัครเข้าระบบเงินบำนาญแห่งชาติ หรือ 国民年金 (Kokumin Nenkin) ได้ ที่สำนักงานเขตค่ะ
■ เงื่อนไขการได้รับเงินบำนาญ
ไม่ว่าเราจะสมัครจ่ายเงินบำนาญสะสมในระบบเงินบำนาญแห่งชาติ (国民年金 Kokumin Nenkin) หรือ เงินบำนาญลูกจ้าง(厚生年金 Kousei Nenkin) แล้วนั้น เรามีโอกาสได้รับเงินบำนาญกลับมา1 ใน 3 รูปแบบด้านล่างนี้ค่ะ
1.เงินบำนาญชราภาพ (老齢年金 Rourei Nenkin) คือ เงินบำนาญที่เราจะได้เมื่อเกษียณอายุการทำงาน เริ่มรับได้ตั้งแต่อายุ 60-75ปี ถ้าเริ่มรับเร็วก็จะได้เงินบำนาญต่อเดือนน้อยกว่าเริ่มรับช้าค่ะ
เงื่อนไขการรับเงินบำนาญชราภาพ คือ ต้องสมัครเข้าระบบและชำระเงินสะสมบำนาญแห่งชาติ หรือ บำนาญลูกจ้างเป็นระยะเวลา 10 ปีค่ะ ผู้ที่ชำระเงินบำนาญแห่งชาติจะได้รับเงินบำนาญชราภาพพื้นฐาน (老齢基礎年金Rourei Kiso Nenkin) และผู้ที่ชำระเงินบำนาญลูกจ้าง จะได้รับเงินบำนาญลูกจ้าง (厚生年金 Kousei Nenkin)สมทบเพิ่มขึ้นมาค่ะ จำนวนเงินที่เราจะได้รับกลับมาเป็นค่าเฉลี่ยการได้รับเงินบำนาญต่อคนต่อเดือน จากกรมแรงงานและสวัสดิการสังคม ผู้เข้าระบบเงินบำนาญแห่งชาติ ได้รับเฉลี่ยเดือนละ 55,464เยน ผู้เข้าระบบเงินบำนาญลูกจ้าง ได้รับเฉลี่ยเดือนละ 147,927 เยน จากข้อมูลตรงนี้จะเห็นได้ว่ามีความแตกต่างกันพอสมควร ระหว่างการเข้าระบบเงินบำนาญแห่งชาติ หรือระบบเงินบำนาญลูกจ้างพอสมควร
2.เงินบำนาญผู้พิการ(障害年金 Shougai Nenkin) คือ เงินบำนาญที่ชำระให้ผู้ที่เกิดการพิการทางร่างกายหลังจากสมัครเข้าระบบและชำระเงินในระบบบำนาญค่ะ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการพิจารณาความพิการนั้น มีรายละเอียดมากมายซึ่งแอดมินไม่ขอพูดถึงตรงนี้นะคะ อยากให้สอบถามไปทางสำนักงานเขตที่อาศัยอยู่โดยตรง
3.เงินบำนาญมรดก (遺族年金 Izoku Nenkin) คือ เงินบำนาญที่ทายาทของผู้ชำระเงินบำนาญจะได้รับเป็นเงินมรดกเพื่อให้ใช้ชีวิตได้ต่อไป กรณีที่ผู้ชำระเงินบำนาญเข้าระบบเสียชีวิต
■ การขอเงินบำนาญคืนสำหรับชาวต่างชาติที่กลับประเทศ
สำหรับชาวต่างชาติที่ทำงานระยะสั้นในญี่ปุ่นนะคะ ถ้าเป็นพนักงานบริษัทเราจะถูกบังคับในเข้าระบบและชำระเงินสะสมเงินบำนาญลูกจ้าง ถ้าเราจะเดินทางกลับประเทศถาวร เราสามารถยื่นเรื่องลาออกจากระบบเงินบำนาญและขอเงินบำนาญคืนได้บางส่วนค่ะ
เอกสารที่ต้องยื่นเพื่อขอรับเงิน [คำร้องขอรับเงินชดเชยการออกจากระบบบำนาญ]
(1) สำเนาหนังสือเดินทาง
(2) เอกสารที่สามารถตรวจสอบได้ว่าไม่มีที่อยู่ในประเทศญี่ปุ่นแล้ว (เช่น สำเนาใบบันทึกประวัติการย้ายที่อยู่ของทะเบียนบ้าน)
(3) เอกสารหลักฐานที่แสดง “ชื่อธนาคาร”, “ชื่อสาขา”, “ที่อยู่ของสำนักงานสาขาของธนาคาร”, “เลขที่บัญชี”และ “ชื่อบัญชีที่เป็นชื่อผู้ยื่นคำร้อง”
(4) สมุดเงินบำนาญหรือเอกสารหลักฐานที่แสดงหมายเลขเงินบำนาญ
※ ทั้งนี้หากท่านจะยื่นคำร้องจากภายในประเทศญี่ปุ่นก่อนเดินทางกลับประเทศตัวเอง กรุณายื่นคำร้องหลังวันที่คาดว่าจะย้ายออกจากทะเบียนบ้าน (หากท่านต้องการรับเงินชดเชยฯท่านต้องไม่มีที่อยู่ในประเทศญี่ปุ่นในวันที่องค์การระบบบำนาญแห่งประเทศญี่ปุ่นได้รับคำร้องฯ)
การปรับลดระยะเวลาสิทธิ์ที่ได้รับเงินบำนาญชราภาพลงเป็นเวลา 10 ปี (ปรับลดจากเดิม 25 ปี เป็น 10 ปี ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2017) หากท่านมีระยะเวลาสิทธิ์ที่ได้รับเงินบำนาญเป็นเวลา 10 ปี (120 เดือน) ขึ้นไปแล้วจะได้รับเงินบำนาญชราภาพของญี่ปุ่นได้ จำนวนเงินชดเชยฯ ที่ท่านจะได้รับนั้นจะคำนวนตามเดือนที่ท่านเข้าประกันในระบบบำนาญของญี่ปุ่นแต่ไม่เกิน 36 เดือน ภาษีที่ต้องเสียจากเงินชดเชยการออกจากระบบบำนาญ เงินชดเชยฯ ของระบบบำนาญแห่งชาติไม่ถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย แต่เงินชดเชยฯ ของระบบประกันบำนาญสำหรับลูกจ้างจะถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตรา 20.42% เมื่อเบิกจ่ายเงินชดเชยฯ
การทำงานในญี่ปุ่น เราสามารถเลือกรูปแบบเน็งคิงให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์และการใช้ชีวิตประจำวันของเราได้ นอกจากนี้เราสามารถทำเรื่องงดเว้นการจ่าย(免除)เน็งคิงได้ในกรณีที่เราตกงาน หรือประสบปัญหาในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะพูดในบทถัดไปเกี่ยวกับรายการสิ่งที่ควรทำหลังจากที่คุณตกงาน