ในประเทศญี่ปุ่น การเริ่มต้นการศึกษา เริ่มงานใหม่ หรือปรับโยกย้ายตำแหน่งหน้าที่จะเกิดขึ้นในเดือนเมษายน หลังจากนั้นปลายเดือนเมษายนถึงต้นเดือนพฤษภาคมก็มีจะวันหยุดยาวที่เรียกว่า “โกลเดนวีค” หลังจากวันหยุดอันแสนสุขจบสิ้นลง และกลับสู่ชีวิตการเรียนหรือการทำงาน ชาวญี่ปุ่นหลายคนเกิดความผิดปกติทางจิตใจหรือร่างกาย เป็นช่วงที่ชาวญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยมีอาการซึมเศร้า ไม่อยากอาหาร เวียนหัว นอนไม่หลับ อาการเช่นนี้เกิดจากความเครียดที่ปรับตัวไม่ได้ในสิ่งแวดล้อมใหม่หรือเรียกกันว่า โรคเดือนห้า (五月病 Gogatsubyō)
สารบัญ
รู้หรือไม่ว่า 1 ใน 4 คนจะเป็นโรคเดือนห้า
■ โรคเดือนห้า คืออะไร?
โรคเดือนห้า (五月病 Gogatsubyō) ไม่ใช่โรคซึมเศร้าเสียทีเดียว แต่เป็นอาการป่วยที่เกิดขึ้นกับ พนักงานใหม่ การเข้าเรียนที่ใหม่ ในช่วงเดือนพฤษภาคม เป็นชื่อเรียกของอาการป่วยทางจิตที่เกิดจากการไม่สามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมใหม่ๆได้ จนเกิดอาการซึมเศร้า คอยปิดกั้นตัวเองจากโลกภายนอก ที่มาของชื่อคือ การเริ่มต้นการศึกษา เริ่มงานใหม่ หรือปรับโยกย้ายตำแหน่งหน้ามักจะเกิดขึ้นในเดือนเมษายน และเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นหลายคนเกิดความผิดปกติทางจิตใจหรือร่างกายในช่วงเดือนพฤษภาคมพอดีจึงเรียกกันว่า โรคเดือนห้า (五月病 Gogatsubyō)
บทความแนะนำ
■ โรคเดือนห้า เกิดจากอะไร?
โรคเดือนห้า (五月病 Gogatsubyō) มักเกิดกับมนุษย์เงินเดือนหรือนักเรียนใหม่ที่ปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ไม่ได้ อาการที่เกิดขึ้นอาจไม่ใช่ “โรคซึมเศร้า” แต่เป็นปัญหาสุขภาพจิตที่ส่งผลกระทบต่อทั้งร่างกาย, การใช้ชีวิต รวมทั้งการทำงานและการเรียนด้วย อาการอาจเริ่มจากนอนไม่หลับ ฝันร้าย ไม่อยากตื่นนอน ไม่อยากทานอาหาร รู้สึกจิตตกไม่อยากจะทำอะไรเลย จนถึงอาการทางร่างกาย เช่น ปวดเมื่อยร่างกาย ปวดหัว ปวดท้อง หรือมีไข้
■ รู้หรือไม่ว่า 1 ใน 4 คนจะเป็นโรคเดือนห้า
จิตแพทย์ชาวญี่ปุ่นผู้มีประสบการณ์มากกว่า 15 ปี ระบุว่า จำนวนผู้ที่เป็นโรคเดือนห้า (五月病 Gogatsubyō) มีมากขึ้น คนญี่ปุ่น 1 ใน 4 คนจะเป็นโรคเดือนห้า ทั้งนักเรียนที่เครียดกับการสอบ มนุษย์เงินเดือนที่เครียดจากงาน ยิ่งเมื่อมีสื่อสังคมออนไลน์ คนที่มีปัญหา“จิตตก” ก็ยิ่งมากขึ้น ทั้งจากปัญหาการสื่อสารกับผู้คนในโลกออนไลน์ และความอิจฉาเมื่อเห็นคนอื่นโพสต์ภาพและเรื่องราวของวันหยุดแสนสุขสันต์ เนื่องจากคนเรามักเปรียบเทียบตัวเองกับความสุขของคนอื่น ยิ่งรับรู้ยิ่งเปรียบเทียบและยิ่งทุกข์ใจ หลายคนมีความกดดันกับการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการเริ่มงานใหม่ การเข้าโรงเรียน และการรับหน้าที่ใหม่ เมื่อคุณเข้าสู่สภาพแวดล้อมใหม่ครั้งแรก ไม่ว่าคุณจะขบฟันและพยายามอย่างเต็มที่เท่าไรก็ตาม! มันก็เป็นเรื่องยากที่จะปรับตัวใหม่
■ วิธีการป้องกันโรคเดือนห้า
การป้องกันตัวจาก “โรคเดือนห้า” ควรใช้ชีวิตตามปกติ คือ ตื่นนอนและเข้านอนในเวลาเดิมถึงแม้จะเป็นวันหยุด โดยหากตื่นแล้วจะนอนอีกครั้งตอนสายๆ ก็ไม่เป็นไร นอกจากนี้ยังควรออกกำลังกาย หรือไปรับแสงแดดอันสดใส ทานอาหารที่มีแคลเซียมและโปรตีนจะช่วยให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่า
งานอดิเรก
อ่านหนังสือ วาดภาพ ทำอาหาร หรือแม้แต่เดินเล่นในสวนสาธารณะ อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง ให้ใช้เวลามากขึ้นในการทำสิ่งที่ทำให้คุณมีความสุข คุณสามารถทำได้กับเพื่อนหรืออยู่คนเดียว
ออกกำลังกาย
การออกกำลังกายเป็นประจำไม่เพียงแต่ดีต่อร่างกายเท่านั้น แต่ยังเป็นการดีในการบรรเทาความเครียดและความตึงเครียดทางจิตใจ เอ็นดอร์ฟิน (ฮอร์โมนที่ทำให้รู้สึกสบาย) จะถูกหลั่งในร่างกายเมื่อคุณทำให้เลือดสูบฉีดและทำให้เหงื่อออก แนะนำว่าควรออกกำลังกาย 2 ~ 3 ครั้งต่อสัปดาห์
กินเพื่อสุขภาพ
ร่างกายที่แข็งแรงคือร่างกายที่มีความสุข การรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพและการลดการบริโภคอาหารขยะเป็นสิ่งสำคัญ แต่ช่วงเวลารับประทานอาหารที่เหมาะสมก็เช่นกัน นอกจากนี้ยังมี “อาหารต้านความเครียด” คืออาหารสมองที่สามารถช่วยให้คุณตื่นตัวได้ ลองกิน กล้วย ถั่ว บลูเบอร์รี่ อะโวคาโด และนม ดู
กิจวัตรก่อนนอน
นอนตามกำหนดเวลา ไม่ดึกเกินไปและเป็นเวลาเดิมทุกวัน กิจวัตรก่อนนอน เช่น ฟังเพลง อาบน้ำอุ่น นั่งสมาธิ อ่านนิทานก่อนนอน ช่วยเตรียมร่างกายให้พร้อมสำหรับการนอนหลับและยังช่วยปรับปรุงคุณภาพการนอนหลับของคุณอีกด้วย หลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ 1 ชั่วโมงก่อนนอน และหลีกเลี่ยงคาเฟอีนและน้ำตาลที่จะทำให้คุณตื่นอยู่เสมอ
หยุดพัก
การทำงานหนักเป็นเรื่องที่ดี แต่การหยุดพักบ้างก็สำคัญเช่นกัน กำหนดเวลาพักให้บ่อยแต่สั้นๆ ตลอดทั้งวัน นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและสมาธิของคุณอีกด้วย การหยุดพักทุกๆ 2 ชั่วโมงค่อนข้างเป็นมาตรฐานทั่วไปที่มักทำกัน
■ วิธีการแก้โรคเดือนห้า
โรคเดือนห้า (五月病 Gogatsubyō) ตามชื่อของมันหมายถึงชั่วคราว อาการของคุณจะค่อยๆ ดีขึ้นเอง โดยปกติจะใช้เวลาประมาณ 1 ~ 2 เดือน ที่สำคัญอย่าตกใจ คิดเสียว่ามันเป็นเรื่องธรรมดามาก ดังนั้นคุณไม่ได้เป็นโรคนี้อยู่คนเดียว ทุกคนคงเคยสัมผัสโรคเดือนห้ามาแล้ว และบางคนที่ไม่สามารถหาวิธีรับมือโรคเดือนห้าได้อย่างเหมาะสมก็ต้องเจออาการแบบนี้ทุกปี สิ่งที่คุณสามารถทำได้คือลองทำตามคำแนะนำด้านบนก่อน ไม่ควรจมอยู่กับความเครียดและความรุนแรงของสุขภาพจิตของคุณ เพราะว่ามันสามารถพัฒนาไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้ ลองทำกิจกรรมที่แนะนำข้างต้นจนกว่าคุณจะรู้สึกดีขึ้น หากอาการของคุณไม่ดีขึ้น โปรดขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ
บทความนี้ช่วยให้คุณเข้าใจ โรคเดือนห้า (五月病 Gogatsubyō) ดีขึ้นหรือไม่? เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นเช่นนั้น แม้ว่าคุณจะไม่ต้องทนทุกข์ทรมานจากอาการโรคเดือนห้า สิ่งสำคัญคือต้องดูแลสุขภาพจิตของคุณ (และสุขภาพกายด้วย!) หากคุณรู้จักใครที่กำลังทุกข์ทรมานจากอาการโรคเดือนห้า (五月病 Gogatsubyō) หรือภาวะซึมเศร้าตามฤดูกาล ลองแบ่งปันบทความนี้กับพวกเขาดู