คนไทยที่อาศัยในญี่ปุ่นโดยมากมักเมื่อพาสปอร์ตใกล้หมดอายุมักจะกลับไปต่ออายุพาสปอร์ตที่เมืองไทย เหตุผลเพราะค่าธรรมเนียมที่ถูกกว่ามากและยังได้ถือโอกาสกลับไปเยี่ยมเพื่อนๆญาติพี่น้องที่ไทยอีกด้วย แต่ในปัจจุบันสถานการณ์โควิด19 ที่ยืดยาวมากว่า 2 ปีแล้ว ทำให้การกลับไปต่ออายุพาสปอร์ตที่ไทยทำได้ยากขึ้น วันนี้จึงอยากจะมาแชร์ประสบการณ์การต่ออายุพาสปอร์ตไทยที่สถานเอกอัครราชทูตฯโตเกียว เผื่อจะเป็นประโยชน์ต่อใครหลายคน ส่วนใครที่ต้องการเดินทางกลับไทย สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่บทความ วิธีการกลับไทยและวิธีการกลับเข้าประเทศญี่ปุ่น
สารบัญ
- การจองคิว
- การเตรียมตัวก่อนไปสถานทูต
- การไปสถานทูตไทยในญี่ปุ่น
- วันนัดและวิธีการต่ออายุพาสปอร์ต
- รูปแบบและราคา
- วิธีการรับพาสปอร์ต
■ การจองคิว
ด้วยสถานการณ์โควิด19 ทางสถานทูตเองก็ต้องจำกัดคนที่จะเข้ารับบริการ เผื่อความปลอดภัยทั้งกับตัวเจ้าหน้าที่เองและผู้รับบริการ โดยที่สามารถลงทะเบียนจองคิวเพื่อต่ออายุพาสปอร์ตได้ที่การลงทะเบียนทำหนังสือเดินทางออนไลน์ คลิ๊กที่นี่ โดยปกติมักจะเปิดให้จองประมาณกลางเดือนของเดือนก่อนที่จะไปต่ออายุพาสปอร์ตเช่น เปิดให้ลงทะเบียนต่ออายุพาสปอร์ตของเดือนสิงหาคม 2564 ประมาณวันที่ 15 กรกฎาคม 2564 เวลาประมาณ 15.30 น. ทั้งนี้ให้ติดตามประกาศของทางสถานทูตอีกครั้ง
บทความแนะนำ
■ การเตรียมตัวก่อนไปสถานทูต
การเตรียมเอกสาร เอกสารที่ใช้ในโดยปกติเอกสารการขอหนังสือเดินทางเล่มใหม่มีดังนี้
1. บัตรประจำตัวประชาชน
2. หนังสือเดินทางเล่มเดิม
ทั้งนี้ ในบางกรณีอาจจำเป็นต้องใช้เอกสารเพิ่มเติมดังต่อไปนี้
1. สำเนาทะเบียนบ้านไทย
2. สำเนาใบทะเบียนสมรสหรือหย่า หรือใบฐานะครอบครัวสมรสหรือหย่า (กรณีชื่อไม่ตรงกับหนังสือเดินทาง)
3. สำเนาใบเปลี่ยนชื่อ (กรณีชื่อไม่ตรงกับหนังสือเดินทาง)
4. สำเนาResidence card (ไซริวการ์ด) 1 ชุด
ซึ่งแต่ละเคสก็จะแตกต่างกันไป คนที่ที่อยู่ในชื่อหรือที่อยู่ในทะเบียนบ้านไม่ตรงกับบัตรประชาชนอาจจะต้องมีอย่างอื่นมาแสดงด้วย คนที่เปลี่ยนชื่อสกุล (เช่น แต่งงาน) ก็อาจจะต้องมีใบเปลี่ยนชื่อสกุลมาประกอบ ถ้าไม่แน่ใจก็โทรไปถามเจ้าหน้าที่ได้
■ การไปสถานทูตไทยในญี่ปุ่น
การเดินทางไปลงที่สถานี “เมกุโระ Meguro” สาย JR Yamanote เดินตามป้ายไป Central Gate ผ่านประตูจัดเก็บค่าโดยสาร ใช้บันไดออกทาง East Exit ระยะทางประมาณ 700 เมตรจากสถานี ใช้เวลาเดินประมาณ 9 นาที
สำหรับผู้ที่ประสงค์จะทำหนังสือเดินทางกับสถานกงสุลใหญ่ ณ นครโอซากาโปรดติดต่อที่
โทร :06-6262-9226, 06-6262-9227
อีเมล์: rtcgosaka.consularsection@gmail.com
Facebook: สถานกงสุลใหญ่ ณ นครโอซากา
สำหรับผู้ที่ประสงค์จะทำหนังสือเดินทางกับสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฟูกูโอกะ โปรดติดต่อที่
โทร : 092-739-9090
อีเมล์ : consular.FUK@mfa.mail.go.th
Facebook: สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฟูกูโอกะ
■ วันนัดและวิธีการต่ออายุพาสปอร์ต
พอไปถึงหน้าสถานทูต ควรไปก่อนเวลา เมื่อไปถึงก็แจ้งเจ้าหน้าที่หน้าประตูว่ามาต่อพาสปอร์ตและก็ยื่นเอกสารให้เค้าดู เสร็จแล้วก็จะได้บัตรคิวมานั่งรอ พอเค้าเรียกก็สามารถเดินเข้าไปในสถานทูตเพื่อรอถ่ายรูป พิมพ์ลายนิ้วมือ ตรวจม่านตา และจ่ายเงิน ก็เป็นอันว่าเสร็จ ข้อควรระวังสำหรับขั้นตอนการตรวจม่านตา คือต้องถอดคอนแทคเลนส์สีหรือแฟชั่น เพื่อป้องกันความคลาดเคลื่อนในการตรวจสอบม่านตา ดังนั้นหากใครสวมใส่คอนแทคเลนส์ แนะนำให้เตรียมอุปกรณ์สำหรับการถอดและใส่คอนแทคเลนส์ไปด้วย และ โปรดสวมหน้ากากอนามัยเมื่อมาใช้บริการ ทั้งนี้ เพื่อลดความหนาแน่นในห้องรับเรื่อง และลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
■ รูปแบบและราคา
อัตราค่าธรรมเนียม
1.หนังสือเดินทางบุคคลทั่วไปที่มีอายุไม่เกิน 5 ปี ค่าธรรมเนียม 9,000 เยน
2.หนังสือเดินทางบุคคลทั่วไปที่มีอายุไม่เกิน 10 ปี ค่าธรรมเนียม 13,000 เยน
3.หนังสือเดินทางฉุกเฉิน (Emergency Passport) มีอายุไม่เกิน 1 ปี ค่าธรรมเนียม 2,000 เยน และค่าธรรมเนียมการบันทึกรายการในหนังสือเดินทาง (Endorsement) 1,000 เยน
4.เอกสารเดินทางฉุกเฉิน (Emergency Travel Document) ไม่มีค่าธรรมเนียม
ไหนๆก็ต้องเสียเงินแพงกว่าที่จะกลับไปต่อที่ไทยแล้วเลยเลือก 10 ปี ค่าธรรมเนียม 13,000 เยน ตัวปลิวกลับบ้านกันเลยทีเดียว โดยที่เจ้าหน้าที่จะเตือนตลอดเวลาว่าหากชำระค่าธรรมเนียมข้างต้นแล้ว ไม่สามารถเรียกคืนได้ ไม่ว่ากรณีใด แต่ถ้าไม่ได้ทำผิดรุนแรงก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ไม่ต้องกลัวไปนะ ข้อมูลจาก http://site.thaiembassy.jp/th/services/passport/65/
■ วิธีการรับพาสปอร์ต
เจ้าหน้าที่จะแจ้งว่าใช้เวลาประมาณ 4 อาทิตย์ในการดำเนินการ โดยที่เราสามารถเลือกรับพาสปอร์ตได้ 2 ทางคือ
1.มารับด้วยตนเองที่สถานทูต โดยจะได้รับแจ้งอีกครั้งเมื่อได้รับพาสปอร์ตใหม่แล้ว
2.ส่งทางไปรษณีย์ โดยจะต้องกรอกเอกสารเป็นซองจดหมายที่ต้องระบุที่อยู่ในการจัดส่ง และที่สำคัญเป็นการชำระค่าส่งปลายทาง คือเราต้องจ่ายค่าส่งเองนั่นเอง โดยค่าส่งจะอยู่ประมาณไม่เกินหนึ่งพันเยน หากเลือกการส่งไปรษณีย์ ทางเจ้าหน้าที่จะจะแคนเซิลพาสปอร์ตเก่าเลย ช่วงที่รอเล่มใหม่ก็จะเดินทางไม่ได้ ถ้ามีแพลนว่าจะเดินทางหรือต้องกลับไทยในระหว่างที่รอ ไม่แนะนำให้ส่งไปรษณีย์ ควรจะมารับเล่มใหม่แล้วค่อยแคนเซิลเล่มเก่าดีกว่า ผู้เขียนได้เลือกแบบส่งไปรษณีย์เพราะไม่มีแผนเดินทาง และสรุปว่าใช้เวลาทั้งหมดเพียง 10 วันในการดำเนินการเท่านั้นเอง แต่อย่างไรก็ตามควรเผื่อเวลาเท่าที่เจ้าหน้าที่แจ้งไว้จะเป็นการดีที่สุด
เป็นอย่างไรบ้างคะ ได้แนวทางการไปต่ออายุพาสปอร์ตไทยที่สถานเอกอัครราชทูตฯโตเกียว หวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อใครหลายคนไม่มากก็น้อย