เรื่องแปลกใจในญี่ปุ่นมาถึงตอนที่ 2 แล้ว ครั้งนี้จะเป็นเรื่องแปลกใจของการมาทำงานที่ญี่ปุ่นและต้องมาอยู่อาศัยจริงๆต้องหาที่พักด้วยตัวเองและต้องทำอะไรหลายอย่างด้วยตัวเองเป็นครั้งแรก ซึ่งจะมีเรื่องที่ทำให้แปลกใจมากมาย อาจจะเรียกได้ว่าเป็นคัลเจอร์ช็อคแบบหนึ่งก็ได้ ลองมาดูกันว่ามีอะไรบ้าง และน่าจะเป็นเรื่องที่มีประโยชน์สำหรับคนที่เตรียมตัวจะมาอยู่อาศัยระยะยาวหรือมาทำงานที่ญี่ปุ่น
อ่านตอนที่แล้ว เรื่องแปลกใจในญี่ปุ่น ตอนที่ 1
■ การเปิดบัญชีธนาคาร
ในตอนที่แล้วเราได้พูดถึงเรื่องอินคังกันไปแล้วว่าเป็นสิ่งจำเป็นในการใช้ชีวิตที่ญี่ปุ่น เพราะที่ญี่ปุ่นจะอินคังแทนลายเซ็นในการทำธุรกรรมต่างๆที่ญี่ปุ่น สิ่งที่คุณต้องใช้ในการเปิดบัญชีธนาคารก็จะเป็นต้องมีอินคัง, บัตรประจำตัวผู้พำนัก (ไซริวการ์ด), บัตรประกันสุขภาพ,หนังสือเดินทางหรือใบขับขี่, และต้องมีหมายเลขโทรศัพท์ บางธนาคารไม่อนุญาตให้คุณเปิดบัญชีธนาคารถ้าไม่มีหมายเลขโทรศัพท์ ตอนมาที่นี่ครั้งแรกเลยคือ ต้องใช้เบอร์มือถือของบริษัทลงทะเบียนไปก่อนเพราะยังไม่มีเบอร์ส่วนตัว และกว่าจะไปเปิดเบอร์ได้ต้องมีบัตรเครดิตของญี่ปุ่นก่อน สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ การเปิดใช้ซิมการ์ดและโทรศัพท์มือถือในญี่ปุ่น การทำบัตรเครดิตที่ญี่ปุ่น พูดเลยว่าเป็นการเริ่มต้นในญี่ปุ่นที่ค่อนข้างวุ่นวายมากๆ แทบไม่ได้ทำงานทำการ ต้องออกไปรายงานตัวกับอำเภอ ไปทำบัตรประกันต่างๆ ไปธนาคาร ไปทำบัตรเครดิต ไปเปิดเบอร์โทรศัพท์ แค่นึกถึงตอนนี้ก็เหนื่อยแล้ว โชคดีที่บริษัทเข้าใจปล่อยให้ไปไม่ได้หักเงินเดือนแต่อย่างใด แต่ตอนเงินเดือนออกนั้นก็จะเจอเรื่องช็อกเรื่องอื่นแทน
บทความแนะนำ
■ ATM
เอทีเอ็มที่ญี่ปุ่นไม่ได้เปิด 24 ชั่วโมงเหมือนที่ไทยนะ บอกตรงๆว่าตอนแรกงงมาก อ้าว เอทีเอ็มปิด แล้วจะกดตังค์ยังไง และที่แปลกอีกอย่างคือจะมีเวลาที่กดฟรีและถ้านอกจากช่วงเวลานี้ต้องเสียเงินซึ่งค่าธรรมเนียมแต่ละที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งค่าธรรมเนียมก็โหด(ถ้าคิดเป็นเงินไทย) แต่พออยู่มาสักพักเราจะพบตู้เอทีเอ็มในร้านสะดวกซื้อต่างๆซึ่งเราสามารถไปใช้บริการได้ 24 ชั่วโมงอาจจะมีค่าธรรมเนียมเพิ่มเติม แต่เราก็ไม่ค่อยอยากเสียเท่าไหร่จริงมั้ย? เรื่องแปลกใจสำหรับเอทีเอ็มญี่ปุ่นอีกเรื่องก็คือเวลาเราเอาสมุดบัญชีไปอัพบุ๊คที่ตู้เอทีเอ็ม ถ้าหน้าสมุดบัญชีไม่พอจะมีการเปลี่ยนสมุดบัญชีเล่มใหม่ให้อัตโนมัติสะดวกและดีมากๆเลย
■ การหาที่พัก
การหาที่พักที่ญี่ปุ่นก็แปลกคือเราไม่สามารถไปติดต่อกับที่พักเองโดยตรง แต่ต้องผ่านเอเจนท์ที่ดูแลเรื่องการเช่าที่พักที่เรียกว่า ฟุโดซัง (不動産) ที่จะเป็นตัวกลางจัดหาบ้านที่เราต้องการและติดต่อกับเจ้าของบ้านให้ ซึ่งอาจจะต้องมีค่าบริการราวๆหนึ่งถึงสองเท่าของค่าเช่าบ้าน และห้องที่ได้ก็จะมีลักษณะเป็นห้องเปล่าๆ โดยที่คุณต้องซื้อเฟอร์นิเจอร์เอง ติดต่อ น้ำ ไฟ แก๊ส อินเทอร์เน็ตเอง ซึ่งต้องเตรียมจ่ายเงินประกัน 敷金 (ชิคิคิง ค่าประกัน) เงินให้เปล่า 礼金 (เรคิง) เงินค่านายหน้า 仲介手数料 (ชูไกเทซูเรียว) ในกรณีที่เป็นชาวต่างชาติจะต้องมีผู้ค้ำประกัน 保証人(โฮโชนิน) เป็นคนญี่ปุ่นอีกด้วย เห็นแบบนี้แล้วก็น่าจะพอเดาคร่าวๆ ได้ว่าเวลาจะเช่าห้องทีต้องใช้เงินอย่างน้อย 3-5 เท่าของค่าห้องต่อหนึ่งเดือน อาจจะประหยัดค่าใช้จ่ายได้บ้างถ้าได้ห้องที่ไม่ต้องจ่ายเงินประกันหรือเงินให้เปล่า แต่ก็แนะนำให้เช็คประวัติห้องดีๆก่อนจะตัดสินใจเช่านะคะ อ่านเพิ่มเติมได้ที่ การหาที่พักและประเภทที่พักในญี่ปุ่น
■ อาหารลดราคา
ตามซูเปอร์มาร์เก็ตญี่ปุ่นมักจะมีการลดราคาสินค้าหากสินค้านั้นเริ่มใกล้จะหมดอายุแล้ว ก็จะเริ่มตั้งแต่ 10% จนไปถึง 50%เลยทีเดียว ยิ่งใกล้จะหมดอายุเท่าไหร่ยิ่งลดราคามากขึ้น เช่นถ้าเราไปซูเปอร์มาร์เกตแล้วไปตรงส่วนที่เป็นเบนโตะที่ทำขายในช่วงสองทุ่ม ราคาน่าจะลดอยู่ที่ 20-30% แต่ถ้าหากไปก่อนซูเปอร์ปิด จะพบกับสินค้าลดราคา 50% มากมายหรือบางครั้งอาจจะลดมากกว่านี้ด้วยซ้ำ หากใครต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายแนะนำให้ลองไปช้อปตอนช่วงดึกๆนะ
■ โรงพยาบาล
โรงพยาบาลก็เป็นอีกที่ที่น่าแปลกใจเพราะโรงพยาบาลส่วนใหญ่ไม่ได้เปิดตลอด 24 ชั่วโมงเหมือนที่ไทย และบางทีก็หยุดวันเสาร์อาทิตย์ด้วย คือสงสัยมากว่าถ้าฉุกเฉินจะทำยังไง เมื่อสอบถามกับเพื่อนชาวญี่ปุ่นก็บอกว่ามันก็มีโรงพยาบาลที่รับเคสฉุกเฉินอยู่แต่ก็ไม่มีเยอะเหมือนที่เมืองไทย และการไปหาหมอที่โรงพยาบาลเราจะขอแอดมิดได้ยากมากถึงแม้เราจะป่วยมาก แต่ถ้าหมอบอกว่าไม่ให้แอดมิดเราก็ต้องหอบร่างขึ้นรถกลับไปนอนซมที่บ้านต่อ ซึ่งต่างจากไทยมากๆ และการมาหาหมอแต่ละครั้งถึงแม้ว่าเราจะมีประกันสุขภาพแต่เราก็ต้องจ่ายส่วนของเรา30%ของค่ารักษาเอง และถ้ามีการสั่งยาเราก็ต้องเอาใบสั่งยาจากโรงพยาบาลไปซื้อที่ร้านขายยาเอง บอกตรงๆว่าช็อกกับเรื่องโรงพยาบาลที่นี่มากและถ้าเป็นไปได้ ไม่อยากป่วยและไม่อยากไปโรงพยาบาลเลย
■ ร้านเน็ตคาเฟ่
ร้านเน็ตคาเฟ่ที่ได้เขียนไปแล้วในบทความ ตกรถไฟในญี่ปุ่นทำยังไง นอกจากจะมีอินเทอร์เน็ตให้เล่นแล้ว ก็มีหนังสือการ์ตูนมากมาย และก็ยังมีขนม เครื่องดื่มบริการแบบกินไม่อั้นอีกด้วย บางแห่งก็มีห้องอาบน้ำสำหรับผู้ใช้บริการด้วยนะ แต่อาจจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเล็กน้อย ในร้านเน็ตคาเฟ่สามารถเลือกที่นั่งแบบกั้นฉากหรือจะเป็นห้องส่วนตัวก็ได้โดยราคาจะแตกต่างกันไป และที่สำคัญมีคนอาศัยในเน็ตคาเฟ่ด้วยนะ ไม่ได้แค่มาพักชั่วคราวหลังตกรถไฟ แต่คืออาศัยอยู่จริงๆจ่ายรายเดือนซึ่งตกอยู่เดือนละราวๆสามหมื่นเยนซึ่งถูกกว่าการเช่าอพาร์ตเมนท์ ราคาถูกแต่ก็ต้องแลกกับความไม่เป็นส่วนตัวเท่าไหร่ ตอนแรกเพื่อนบอกก็ไม่ค่อยเชื่อนึกว่าอำเล่นแต่พอไปดูจริงๆที่หน้าเน็ตคาเฟ่มีเขียนราคาค่าเช่ารายเดือนจริงๆและได้คุยกับคนที่อยู่จริงด้วย โดยที่มาอยู่เพราะว่าเพิ่งมาโตเกียวและยังไม่มีเงินมากพอที่จะเช่าอพาร์ตเมนท์ คงต้องทำงานอีกสักสองสามเดือนแล้วก็จะย้ายออก และการมาอาศัยในเน็ตคาเฟ่ก็ดูจะไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับคนญี่ปุ่นเท่าไรนัก
■ บริษัทออกค่าเดินทางให้
เรื่องนี้อยากให้ที่ไทยมีให้บ้างจริงๆ และเชื่อว่าหลายคนคงคิดแบบเดียวกัน บริษัทญี่ปุ่นมักจะออกค่าเดินทางให้พนักงาน แต่อาจจะมีข้อจำกัดบ้างเช่นเดือนละไม่เกินสองหมื่นเยน และส่วนใหญ่จะเป็นค่าเดินทางโดยรถสาธารณะเช่นรถบัสหรือรถไฟ โดยมากจะไม่รวมรถส่วนตัวและแท็กซี่ ค่าเดินทางสำหรับพนักงานประจำโดยส่วนมากจะโอนให้เป็นค่าตั๋วรถรายเดือนพร้อมกับเงินเดือนแต่ละเดือน แต่ถ้าหากเป็นพนักงานพาร์ทไทม์มักจะได้เป็นรายวันเฉพาะวันที่มาทำงานเท่านั้น
■ ภาษีที่โดนหัก (โหดมาก)
นี่ก็เป็นอีกเรื่องช็อกในตอนที่รับเงินเดือนครั้งแรก เมื่อเปิดสลิปเงินเดือนออกมาแล้ว เงินเดือนที่เราได้ตกลงไว้ทำไมมันหายไปสี่หมื่นกว่าเยน อยากร้องไห้เลยทีเดียว ซึ่งสิ่งที่โดนหักออกไปนั้นก็จะมี ภาษีเงินได้, ประกันสุขภาพ, เงินบำนาญ หรือ เน็งคิง, ประกันการจ้างงาน และภาษีท้องถิ่น สามารถอ่านเพิ่มเติมที่ เงินเดือนที่ญี่ปุ่นต้องโดนหักอะไรบ้าง เรียกได้ว่าโหดมาก ที่ญี่ปุ่นถ้าบอกเงินเดือนก็เหมือนจะเยอะแต่รู้หรือไม่ว่าสิ่งที่เราต้องเสียแต่ละเดือนนั้นมันก็เยอะมากเช่นกัน!!
■ โนมิไก
โนมิไก หรือการดื่มสังสรรค์กับบริษัทเป็นเรื่องที่คนที่มาทำงานที่ญี่ปุ่นไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และบอกเลยว่าที่นี่มีโนมิไกเยอะมากในทุกฤดูกาล เริ่มตั้งแต่เข้าทำงานก็จะมีการเลี้ยงต้อนรับ (歓迎会) แล้วก็จะมีโนมิไกของแผนก โนมิไกของสาขา โนมิไกบริษัท หรือบางบริษัทอาจจะมีโนมิไกทุกเดือน พอมีคนลาออกก็จะมีโนมิไกสั่งลา(送別会) สิ้นปีก็จะมีเลี้ยงสิ้นปีก่อนปิดงาน (忘年会) หลังปีใหม่ก็จะมีเลี้ยงปีใหม่ (新年会) เรียกได้ว่ามีเยอะมากๆ ถ้าอยากรู้เรื่องราวเพิ่มเติมสามารถดูได้ที่บทความวัฒนธรรมการดื่มแบบญี่ปุ่น โนมินิเคชั่น (飲みニケーション)
■ LGBTQ
LGBTQ เป็นสิ่งที่ยังไม่ได้ยอมรับกันอย่างแพร่หลายมากนักในญี่ปุ่นซึ่งต่างจากที่ไทยมากๆ ที่นี่การเป็นLGBTQอาจจะมีผลต่อเรื่องงานได้ ดังนั้นเราจะไม่ได้เห็นชาว LGBTQ ได้ทั่วไป ซึ่งชาวLGBTQ ที่ญี่ปุ่นจะมีสถานที่รวมตัวกันเช่นในโตเกียวก็จะพบชาวLGBTQได้ที่ชินจุกุนิโจเมะ ซึ่งเป็นที่รวมตัวของกลุ่มLGBTQ และมีร้านLGBTQมากมายที่นี่ และคุณจะต้องแปลกใจว่าชายหนุ่มใส่สูทมาดแมนมากมายเมื่อมาที่นี่ก็จะเปลี่ยนไปเป็นคนละคน หรือไม่ก็จะมีการเช่าตู้ล็อกเกอร์สำหรับเก็บชุดส่วนตัวเพื่อแปลงร่างก่อนที่จะมาที่นี่ และการที่ได้พูดคุยกับชาวLGBTQญี่ปุ่นหลายคนมีครอบครัวที่มีความสุขมีลูก มีสามีภรรยาที่แสนดี ที่เข้าใจในสิ่งที่เขาเป็นอีกด้วย
เป็นอย่างไรบ้างคะกับเรื่องแปลกใจในญี่ปุ่น ตอนที่ 2 หวังว่าจะมีประโยชน์กับคนที่กำลังเตรียมตัวมาเรียน มาทำงาน และมาอาศัยที่ญี่ปุ่น หวังว่าเรื่องที่เขียนทั้งหมดนี้ช่วยในการเตรียมตัวก่อนที่จะมาญี่ปุ่นไม่มากก็น้อย