วัฒนธรรมดั้งเดิมของญี่ปุ่นมีหลายประเภท ในบทความนี้ เราจะสำรวจหมวดหมู่ศิลปะการแสดงที่เป็นที่รู้จักทั่วไปเช่น คาบุกิ นาฏศิลป์ญี่ปุ่นแบบดั้งเดิมเช่น คางุระและละครโน นอกจากนี้จะแนะนำเครื่องดนตรีอย่างโคโตะและชามิเซ็น ปิดท้ายด้วยเรื่องราวของ เกอิชา ปรมาจารย์ด้านศิลปะการแสดงของญี่ปุ่น
สารบัญ
- วัฒนธรรมดั้งเดิมของญี่ปุ่น
- นาฏศิลป์ญี่ปุ่นแบบดั้งเดิม
- เครื่องดนตรีดั้งเดิมของญี่ปุ่น
- เกอิชา ปรมาจารย์แห่งศิลปะการแสดง
- สรุป
■ วัฒนธรรมดั้งเดิมของญี่ปุ่น
ประเภทหลักของวัฒนธรรมญี่ปุ่นแบบดั้งเดิม
วัฒนธรรมดั้งเดิมของญี่ปุ่นมีหลายประเภท บางส่วนเป็นที่รู้จักในต่างประเทศ เช่น ศิลปะการแสดง กิจกรรมตามฤดูกาลของญี่ปุ่น เสื้อผ้า อาหาร และที่อยู่อาศัย ตัวอย่างเช่น เมื่อพูดถึงเสื้อผ้า เสื้อผ้าแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่นคือกิโมโน (着物) อาหารก็จะเป็นวาโชกุ(和食) และที่อยู่อาศัยจะเป็นเสื่อทาทามิ (畳) หรือโคทัตสึ (こたつ)
การเสื่อมถอยของวัฒนธรรมดั้งเดิมของญี่ปุ่น
วัฒนธรรมดั้งเดิมของญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับการเสื่อมถอยลงเนื่องจากขาดผู้สืบทอดที่จะสืบทอดประเพณีดั้งเดิม เนื่องจากการพัฒนาอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีและรูปแบบความบันเทิงสมัยใหม่ที่เพิ่มขึ้น ความสนใจในวัฒนธรรมดั้งเดิมของญี่ปุ่นจึงลดลงอย่างมาก ส่งผลให้จำนวนผู้มีส่วนร่วมในงานศิลปะลดลงเรื่อย ๆ ทำให้ยากต่อการรักษาและสืบทอดวัฒนธรรม ปัจจัยสนับสนุนอีกประการหนึ่งคือปัญหาสังคมของญี่ปุ่นที่รู้กันดีในเรื่องอัตราการเกิดที่ต่ำมากและสังคมผู้สูงอายุที่กำลังเติบโตขึ้น
บทความแนะนำ
■ นาฏศิลป์ญี่ปุ่นแบบดั้งเดิม
หมวดหมู่หรือประเภทของวัฒนธรรมดั้งเดิมของญี่ปุ่นคือศิลปะการแสดงที่เรียกว่า เกโน (芸能) หรือ เกโด (芸道) ในภาษาญี่ปุ่น มีตัวอย่างศิลปะการแสดงมากมาย เช่น คาโดะ, ซาโดะ, โชโดะ, คาบุกิ, ละครโน, เครื่องดนตรี ในบทความนี้ เราจะพิจารณาศิลปะการแสดงแบบดั้งเดิมที่ได้รับการคัดสรรโดยเน้นที่นาฏศิลป์ญี่ปุ่นแบบดั้งเดิม
คาบูกิ (歌舞伎)
คาบุกิเป็นการละเล่นแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่นที่โดดเด่นด้วยการเคลื่อนไหวที่เป็นเอกลักษณ์ เครื่องแต่งกายที่ประณีต และการแต่งหน้าที่โดดเด่น เป็นศิลปะการแสดงแบบดั้งเดิมที่เป็นเอกลักษณ์ของญี่ปุ่น พัฒนาขึ้นในสมัยเอโดะ ปัจจุบันคาบุกิมีชื่อเสียงระดับโลกโดยมีผู้ชมจากต่างประเทศเดินทางมาญี่ปุ่นเพื่อรับชมเป็นจำนวนมาก ในปี 2008 คาบุกิได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้
โดยนักแสดงจะเป็นผู้ชายล้วนเรียกว่า ยาโระ คาบุกิ (野郎歌舞伎) ในศตวรรษที่ 18 คาบุกิได้กลายเป็นศิลปะญี่ปุ่นที่เป็นที่รู้จัก คาบุกิได้ผ่านกาลเวลามาแม้ว่าจะมีการปรับเปลี่ยนเล็กน้อยในแง่ของรูปแบบการแสดง ถึงกระนั้นก็ตาม วิธีการดั้งเดิมในการแสดงละครคาบุกิยังคงได้รับการรักษาไว้เป็นส่วนใหญ่
ละครโน (能)
ละครโน (能) เป็นหนึ่งในศิลปะการแสดงดั้งเดิมของญี่ปุ่นที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยมุโรมาจิ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ในปี 2008 ซึ่งเป็นปีเดียวกับละครคาบุกิ
โน เป็นคำทั่วไปสำหรับศิลปะการแสดงแบบดั้งเดิม เช่น ละครโน (能), เคียวเง็น (燃言), และชิกิซันบัน (式三式) ดังนี้
-
การแสดงละครโนจะประกอบดนตรีโดยฮายาชิ (囃子 - ดนตรีประกอบละครโน) และ อุไต (謡- บทบรรยายหรือเสียงร้องของละครโน) ในขณะที่นักแสดงสวมหน้ากากละครโนแสดงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ หน้ากากจะเปลี่ยนไปตามตัวละครที่เล่นในเรื่อง
-
ในทางกลับกัน เคียวเง็น (燃言) เป็นละครตลกที่ใช้บทสนทนามากมายและโดยทั่วไปจะแสดงโดยไม่มีหน้ากากโนห์ ข้อยกเว้นเมื่อตัวละครไม่ใช่มนุษย์
-
ชิกิซันบัน (式三式) เป็นละครโนประเภทหนึ่งที่แสดงเป็น พิธีกรรม ของศาสนาชินโต ได้รับการยอมรับว่าเป็นวัฒนธรรมทางศาสนาแบบดั้งเดิมมากกว่าศิลปะการแสดง เนื่องจากจุดประสงค์เบื้องหลังการแสดงคือการอธิษฐานให้พืชผลอุดมสมบูรณ์
นิฮงบุโยะ (日本舞踊) การเต้นรำแบบญี่ปุ่น
นิฮงบุโยะ (日本舞踊) เป็นศิลปะการแสดงแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่นที่มีพื้นฐานมาจากโชซาโกโตะ (所作事) ซึ่งเป็นหนึ่งในสามประเภทหลักของประเภทคาบุกิ ไม่เหมือนคาบุกิที่แสดงโดยผู้ชายเท่านั้น แต่ผู้หญิงก็สามารถแสดงนิฮงบุโยะได้เช่นกัน ตั้งแต่สมัยเมจิ นิฮงบุโยะค่อย ๆ ได้รับความนิยมในหมู่ผู้หญิง ลักษณะเด่นคือการร่ายรำเลียนแบบทิวทัศน์ธรรมชาติโดยใช้พัดเป็นอุปกรณ์ประกอบฉาก นอกจากนี้ ยังมีการแสดงตัวละครต่างๆ มากมาย เช่น หญิงสาว สุนัขจิ้งจอก และซามูไร ผ่านการร่ายรำ เนื่องจากคนๆเดียวอาจเต้นรำในบทบาทต่างๆ กัน การควบคุมการแสดงออกผ่านการเต้นรำและเทคนิคการเต้นจึงเป็นสิ่งสำคัญ
ข้อควรรู้อีกอย่างเกี่ยวกับนิฮงบุโยะ แม้ว่านิฮงบุโยะจะแปลว่า “การเต้นรำแบบญี่ปุ่น ” แต่ก็ไม่ได้หมายถึงการเต้นรำแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่นเพียงอย่างเดียว คาบุกิ, โน, บุนรากุเป็นที่รู้จักกันในชื่อของแต่ละศิลปะการแสดงแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่น แต่หลายคนอธิบายว่าพวกเขาเป็นการเต้นรำแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่นเพื่อความง่ายในการทำความเข้าใจ แท้จริงแล้ว นิฮงบุโยะหมายถึงแนวการเต้นรำแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่นหลายรูปแบบ:
-
คาบุกิบุโยะ (歌舞伎舞踊) : การร่ายรำที่ปรากฏในละครคาบุกิ โดยมีโจรูริ (ชามิเซ็นประเภทหนึ่ง) และนางาอุตะ (เพลงยาว) ร่วมร้องด้วย
-
มาโตอิ (纏舞) : ร่ายรำขณะชักธงขนาดใหญ่ที่เรียกว่า Matoi
-
คุเสะมาอิ (曲舞) : เต้นไปตามจังหวะเฉพาะตัวเพื่อบอกเล่าเรื่องราวโดยใช้พัดเป็นพร็ อบ
-
เน็นเบ็ตสึบุโยะ (念仏踊り) : นักเต้นกระโดดไปตามจังหวะเสียงระฆังขณะสวดมนต์
-
บงโอโดริ (盆踊り): การเต้นรำเพื่อความบันเทิงและต้อนรับผู้ตายที่กลับมาในเทศกาลโอบ้ง (お盆 - เทศกาลแห่งความตายของญี่ปุ่น)
และอื่นๆ
คางุระ (神楽)
คางุระเป็นการร่ายรำในพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ที่อุทิศแด่เทพเจ้าในศาสนาชินโต ซึ่งเป็นหนึ่งในศาสนาที่มีอิทธิพลในญี่ปุ่น หลายคนเชื่อว่าคางุระเป็นการร่ายรำของเทพเจ้าบางองค์เพื่อล่ออามาเทราสึ (天照) เทพีแห่งดวงอาทิตย์ออกจากถ้ำของเธอในตำนานโบราณ
คางุระแบ่งกว้างๆได้ 2 รูปแบบคือ มิคางุระซึ่งเป็นพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ที่กระทำในพระราชวังอิมพีเรียล และคางุระประกอบด้วยรูปแบบดังนี้:
-
มิโคะมาอิ (巫女舞) : การร่ายรำของหญิงสาวในศาลเจ้า
-
โทริโมโนะ คางุระ (採物神楽) : การร่ายรำเพื่อบอกเล่าเรื่องราว
-
โทสะ คางุระ (土佐神楽): การร่ายรำอย่างบ้าคลั่งในขณะที่แต่งตัวเป็นเทพหรือปีศาจ
และอื่นๆ
ในสมัยโบราณ คางุระถูกแสดงเพื่ออธิษฐานหรือแสดงความขอบคุณสำหรับการเก็บเกี่ยวที่อุดมสมบูรณ์ สุขภาพที่ปลอดภัย การปฏิบัตินี้สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน ความแตกต่างคือไม่ใช่แค่นักบวชชินโตและหญิงสาวในศาลเจ้าเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้ร่ายรำได้ คนธรรมดาจำนวนมากที่ต้องการให้ความปรารถนาเป็นจริงก็สามารถร่ายรำได้เช่นกัน
■ เครื่องดนตรีดั้งเดิมของญี่ปุ่น
การเต้นรำมาพร้อมกับเสียงดนตรีและเครื่องดนตรี ดังนั้นมาดูเครื่องดนตรีดั้งเดิมของญี่ปุ่นกันบ้างดีกว่า
โคโตะ (琴)
โคโตะไม่เหมือนกับเครื่องดนตรีจีนกู่เจิง (古筝) แม้ว่าจะจัดอยู่ในเครื่องสายประเภทเดียวกันที่เรียกว่าจะเข้ก็ตาม โคโตะสมัยใหม่มี13 หรือ 17 สายในขณะที่กู่เจิงโดยทั่วไปมี 21 สาย ว่ากันว่าโคโตะของญี่ปุ่นมีอยู่แล้วในช่วงยุคยาโยอิ ในญี่ปุ่นสมัยโบราณถือว่าโคโตะมีความศักดิ์สิทธิ์และเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจและชนชั้นปกครองที่ใช้ในพิธีกรรมเท่านั้น โคโตะโบราณมี 6 สาย ผู้เล่นโคโตะจะใช้ปิ๊กโคโตะ ด้วยนิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้ และนิ้วกลางของมือขวาเพื่อดีดสาย และใช้มือซ้ายกดสายเพื่อปรับเสียง ในทางตรงกันข้าม กู่เจิงมี 13 สายรองรับโดยหย่อง(ไม้ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมคล้ายตัว A รองรับสายแต่ละเส้น) ผู้เล่นกู่เจิงจะปรับเสียงผ่านหย่องก่อนเล่น
ชามิเซ็น (三味線)
ชามิเซ็นเป็นเครื่องดนตรีญี่ปุ่นที่ได้รับความนิยมในต่างประเทศเช่นกัน ว่ากันว่าในสมัยก่อน เมื่อจังหวัดโอกินาว่ารุ่งเรืองในฐานะอาณาจักรริวกิวชาวซันเซียน (三弦) จากประเทศจีนได้แรงบันดาลใจในการทำชามิ เซ็น ในการเล่นชามิเซ็น ต้องใช้ปิ๊กที่เรียกว่าบาจิ「撥」คุณสมบัติที่น่าสนใจของบาจิคือเสียงจะเปลี่ยนไปตามการใช้งานของปลายแหลมหรือส่วนโค้งมนของปิ๊ก ชามิเซ็นถูกนำมาใช้ในละครคาบูกิและศิลปะการแสดงแบบดั้งเดิมอื่นๆ มานานแล้ว ไม่ใช่แค่การแสดงดนตรีเท่านั้น ความแตกต่างของช่วงเสียงและความกว้างของคอทำให้ชามิเซ็นเหมาะกับสถานการณ์ต่างๆ:
ชามิเซ็นคอบาง
เหมาะสำหรับผู้เริ่มต้นจึงใช้ในโรงเรียนชามิเซ็น
ชามิเซ็นคอกลาง
เหมาะสำหรับเพลงโคตะ (小唄) และเพลงพื้นบ้าน
ชามิเซ็นคอหนา
เหมาะสำหรับการแสดงที่ทรงพลังเนื่องจากสร้างเสียงโน้ตที่หนักแน่น
ชาคุฮาจิ (尺八)
ชาคุฮาจิ (尺八) เป็นขลุ่ยไม้ไผ่ ที่ตั้งชื่อตามความยาวของ:
-
ชาคุ (尺) เป็นหน่วยวัดระยะทาง 1 ชากุ เท่ากับ 30.3 ซม.
-
ฮาจิ (八) หมายถึงแปดในภาษาญี่ปุ่น ชาคุฮาจิ รวมกันหมายถึง 1.8 ชากุ
-
1.8 ชากุ คือ 54.54 ซม.
กล่าวกันว่านำเข้ามาจากประเทศจีนในสมัยนารา มักจะเล่นร่วมกับเครื่องดนตรีญี่ปุ่น โคโตะและ ชามิเซ็น
ในสมัยเอโดะ เป็นที่ทราบกันดีว่าชาคุฮาจิเล่นโดยโคมุโสะกลุ่มพระเซนที่มีถังฟางอยู่เหนือศีรษะ พวกเขาจะเป่าขลุ่ยในขณะที่เดินทางไปทั่วประเทศญี่ปุ่น
กลองไทโกะ
ไทโกะเป็นเครื่องดนตรีที่สำคัญในช่วงเทศกาลและงานต่างๆ ของญี่ปุ่น ด้วยเทศกาลและกิจกรรมมากมายที่เฉลิมฉลองทั่วประเทศญี่ปุ่น ไทโกะซึ่งเป็นส่วนสำคัญของเทศกาลจึงมีส่วนร่วมกับชีวิตในญี่ปุ่น
ไทโกะโดดเด่นด้วย เสียงที่ ดังและทุ้มลึกอย่างน่า ประทับใจ คุณสามารถรู้สึกถึงการสั่นสะเทือนในศีรษะและช่วงท้องของคุณ มีกลองไทโกะหลายประเภท ตั้งแต่ ไดไทโกะ (大太鼓) และ คักโคะ (鞨鼓) ที่ใช้ในคางะคุ (雅楽) ไปจนถึง ชิเมะไทโกะ (締め太鼓) และ กะคุไทโกะ (楽太鼓) ใช้ในละครคาบูกิและความบันเทิงพื้นบ้านต่างๆ
■ เกอิชา ปรมาจารย์แห่งศิลปะการแสดง
เกอิชา (芸者) คือ ผู้ให้ความบันเทิงระดับมืออาชีพที่ มีความเชี่ยวชาญ ในศิลปะการแสดงรูปแบบต่างๆ ของญี่ปุ่นรวมทั้งนาฏศิลป์ญี่ปุ่นแบบดั้งเดิม การร้องเพลง การเล่นเครื่องดนตรี เกอิชามักจะมีทักษะในศิลปะการแสดงในรูปแบบหนึ่งหรือสองสามรูปแบบ โดยทั่วไปคือพิธีชงชาและอิเคบานะ พวกเขายังได้รับการฝึกฝนมาอย่างดีในรูปแบบการต้อนรับแบบญี่ปุ่นและเก่งในการสื่อสารกับแขก เกอิชายังโดดเด่นด้วยชุดกิโมโน ที่สวยงาม ทรงผมที่ประณีตและ ใบหน้าที่ทาแป้งสีขาว กว่าจะได้เป็นเกอิชานั้นต้องผ่านการคัดเลือกและฝึกหลายขั้นตอร ตั้งแต่ชิโคมิซัง (仕込みさん) มินาไรซัง (見習いさん) จนถึงไมโกะ (舞子) ซึ่งอาจใช้เวลาหลายปีเพื่อเข้าสู่การเป็นเกอิชาอย่างเต็มตัวในที่สุด ข้อแตกต่างที่จะแยกได้ว่าบุคคลใดเป็นเกอิชาหรือไมโกะสังเกตจากรูปลักษณ์ที่แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น ไมโกะสวมรองเท้าโอโคโบะในขณะที่เกอิชาสวมเกตะหรือโซริ และไมโกะสวมฟุริโซเดะในขณะที่เกอิชาสวมชุดกิโมโนแขนสั้น
แน่นอนว่าสถานที่สามารถพบเกอิชาที่มีชื่อเสียงที่สุดคือเกียวโต แต่คุณก็สามารถพบเห็นและพบกับเกอิชาในส่วนอื่นๆ ของญี่ปุ่นได้เช่นกัน เช่น อาริมะออนเซ็นในเฮียวโกะ อาซากุสะและคางุระซากะในโตเกียว ยามากาตะไมโกะในเมืองยามากาตะ และฮากาตะเค็นบังในฟุกุโอกะ
■ สรุป
มีศิลปะการแสดงแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่นหลายประเภท เช่น โรงละคร ดนตรี และการเต้นรำ นาฏศิลป์ญี่ปุ่นแบบดั้งเดิม แต่ละอย่างมีความพิเศษและเอกลักษณ์เป็นของตนเอง มันอาจจะดูยากสักหน่อยแต่เมื่อคุณได้ลองสัมผัสแล้วคุณจะหลงใหลในเสน่ห์อันเป็นเอกลักษณ์ของศิลปะการแสดงแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่น ด้วยจำนวนที่เพิ่มขึ้นของความสนใจในต่างประเทศต่อศิลปะการแสดงแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่น อุตสาหกรรมนี้จึงได้พัฒนาเพื่อให้ชาวต่างชาติสามารถเพลิดเพลินกับวัฒนธรรมญี่ปุ่นได้ง่ายขึ้น โรงละครเตรียมแผ่นพับและสคริปต์ภาษาอังกฤษและภาษาอื่นๆ รวมถึงวิดีโอ Youtube ที่มีคำบรรยายด้วยภาษาอังกฤษและภาษาอื่นๆ ลองเปิดโอกาสให้ตัวเองได้สัมผัสกับประเพณีและศิลปะการแสดงแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่นดูสักครั้ง