"ญี่ปุ่น" เป็นประเทศที่มักจะเกิดแผ่นดินไหวขึ้นเป็นประจำตลอดปี ทั้งแบบรุนแรงและไม่รุนแรง ถึงแม้ว่าญี่ปุ่นจะเกิดแผ่นดินไหวขึ้นเป็นประจำ แต่คนญี่ปุ่นก็ไม่ได้ดำเนินชีวิตอย่างหวาดระแวงแต่อย่างใด เนื่องจากพวกเขารู้วิธีเตรียมรับมือและปฎิบัติตัวในยามที่เกิดแผ่นดินไหวนั่นเอง
สารบัญ
■ ผลกระทบโดยทั่วไปเมื่อเกิดแผ่นดินไหว
■ หากเกิดแผ่นดินไหวควรทำอย่างไร?
■ การเตรียมตัวก่อนเกิดแผ่นดินไหว
■ ช่องทางติดต่อสถานทูตไทยในญี่ปุ่น
■ ผลกระทบโดยทั่วไปเมื่อเกิดแผ่นดินไหว
-
อาคารและบ้านเก่าอาจพังลงมาและอาจมีคนถูกฝังทั้งเป็น หรือผนังด้านนอกและบานหน้าต่างอาจแตกและตกลงมาทำให้ได้รับบาดเจ็บ
-
การสื่อสารเป็นอัมพาต เนื่องจากมีการใช้โทรศัพท์เป็นจำนวนมากหรืออาจจะมีอุปกรณ์สื่อสารได้รับความเสียหาย ทำให้โทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตไม่สามารถใช้งานได้
-
การคมนาคมติดขัด คาดว่ารถยนต์จะกระจุกตัวและการจราจรหนาแน่นทำให้ยากต่อการอพยพ ในเขตชานเมืองอาจจะเดินทางไม่ได้เนื่องจากดินถล่ม
-
รถไฟอาจใช้งานไม่ได้เป็นระยะเวลานาน เนื่องจากต้องใช้เวลาในการยืนยันความปลอดภัย
-
ไฟฟ้าดับ ก๊าซขัดข้อง และน้ำไม่ไหล
บทความแนะนำ
■ หากเกิดแผ่นดินไหวควรทำอย่างไร?
-
ในกรณีที่อยู่ในอาคาร ก่อนอื่นให้เข้าไปหลบที่มีโครงสร้างแข็งแรงและสามารถรับน้ำหนักได้มาก ไม่มีสิ่งของตกใส่ ไม่มีสิ่งของสั่นไหว เช่น ใต้โต๊ะที่แข็งแรง และให้อยู่ห่างจากประตู ระเบียง และหน้าต่าง ในกรณีที่อยู่ในอาคารสูง
-
การออกนอกอาคารไม่ควรใช้ลิฟต์ ในกรณีที่อยู่นอกอาคารระวังสิ่งของที่อาจตกลงมาจากข้างบน เลี่ยงกำแพงสูง สะพาน กองสิ่งของ เสาไฟฟ้า และสิ่งห้อยแขวนต่างๆ ระวังเรื่องอาคารถล่ม และอพยพไปยังสถานที่ปลอดภัย ควรหาที่โล่งเพื่อหลบภัย เช่น สวนสาธารณะ เป็นต้น
-
ในกรณีที่อยู่ในสถานีรถไฟ หรือในขบวน ปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ของสถานี อย่าตื่นตกใจ ระวังอย่าพลัดตกจากชานชาลาลงไปบนรางรถไฟ สำหรับกรณีที่คนแน่นมากจนไม่สามารถขยับไปไหนได้ ก็ขอแนะนำให้หมอบลงกับพื้นและรอจนกว่าแรงสั่นสะเทือนจะหยุดลง ถ้าอยู่ในขบวนอย่าพยายามออกจากขบวนรถไฟ ป้องกันตัวจากสิ่งของที่อาจตกลงมาจากเพดาน อย่างป้ายต่างๆ
-
ข้อปฏิบัติ และ ข้อควรระวังอื่นๆ ระวังศีรษะ หาอุปกรณ์ป้องกัน หากไม่มีให้ใชักระเป๋าป้องกันแทน , อย่าจุดเทียน ไม้ขีดไฟ หรืออะไรที่ทำให้เกิดกายไฟ เพราะอาจมีแก๊สรั่วอยู่บริเวณนั้น, ออกห่างบริเวณชายฝั่ง เพราะอาจจะเกิดสึนามิ, ให้ออกจากอาคารและบ้านเก่าเพราะอาจพังลงมา, สำรองน้ำเตรียมไว้ เผื่อน้ำไม่ไหล, ไปยังจุดรวมพล ในที่ที่ทางรัฐบาลกำหนด
■ การเตรียมตัวก่อนเกิดแผ่นดินไหว
ที่ญี่ปุ่นจะมี “กระเป๋าฉุกเฉิน” ซึ่งเป็นสิ่งหนึ่งที่ทางรัฐบาลและหน่วยงานต่าง ๆ ของญี่ปุ่นได้ให้ข้อมูลและความรู้แก่ประชาชนว่าควรต้องมี ประเทศญี่ปุ่นมักจะเผชิญกับภัยธรรมชาติอยู่บ่อยครั้ง การเตรียมตัวรับมือให้พร้อมอยู่เสมอ และมีความรู้เรื่องการเอาตัวรอด จึงเป็นสิ่งที่ทุกคนควรต้องรู้ในการดำรงชีวิตในญี่ปุ่น “กระเป๋าฉุกเฉิน” ที่ญี่ปุ่นมีทั้งแบบที่ซื้อได้ครบเซ็ตเลย หรือเราจัดเตรียมเองก็ได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีอุปกรณ์พื้นฐานดังนี้ น้ำและอาหาร,ยาสามัญและอุปกรณ์ทำแผล, ไฟฉาย และถ่านไฟฉาย, แบตเตอร์รี่สำรอง, กระดาษทิชชู่, กระดาษเปียก,มาส์ก, ผ้าชีทใช้สำหรับหุ้มห่อร่างกายกันหนาว(アルミシート), หมวกนิรภัย, พลาสติกแรพอาหาร, ห้องน้ำแบบพกพา, นกหวีด, ถุงมือ, รองเท้า, เชือก, เสื้อกันฝน ส่วนคนต่างชาติอย่างเรา อย่าลืมเอกสารส่วนตัวที่สำคัญอย่างพาสปอร์ต บัตรประจำตัวชาวต่างชาติ (ไซริวการ์ด), บัตรประกันสุขภาพ, บัตรเครดิต ฯลฯ
■ ช่องทางติดต่อสถานทูตไทยในญี่ปุ่น
สถานเอกอัครราชทูตฯไทย ณ กรุงโตเกียว
ที่อยู่ : 3-14-6 Kami-Osaki, Shinagawa-ku, Tokyo 141-0021
โทรศัพท์: 03 5789 2433
HOTLINE: 090-4435-7812
เว็บไซต์ : http://www.thaiembassy.jp/index.html
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครโอซาก้า
ที่อยู่ : Bangkok Bank Building-4th floor, 1-9-16 Kyutaro-machi, Chuo-ku, Osaka 541-0056
โทรศัพท์: (06) 6262-9226,(06) 6262-9227
HOTLINE: 090-1895-0987
เว็บไซต์ : http://www.thaiconsulate.jp/th/jpn/
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฟูกูโอกะ
ที่อยู่ : ชั้น 2 อาคาร Dai Ichi Myojo, 4-1-37, Tenjin, Chuo-ku, Fukuoka-shi, Fukuoka 810-0001
เบอร์โทรศัพท์ : 092-739-9088
HOTLINE: 090-2585-3027 , 090-9572-1515
เว็บไซต์ : http://www.thaiembassy.org/fukuoka/th
ถึงเราบอกไม่ได้ว่าจะเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวในญี่ปุ่นขึ้นอีกเมื่อไร ดังนั้นการเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับแผ่นดินไหวอยู่เสมอจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น บทความนี้เป็นเพียงข้อควรปฏิบัติขั้นเบื้องต้นเมื่อเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวเท่านั้น หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถศึกษาคู่มือข้อควรปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหวในญี่ปุ่นได้จากเว็บไซต์การรับมือแผ่นดินไหว