【ญี่ปุ่น】วัฒนธรรมการทำงานในบริษัทญี่ปุ่น

เชื่อหรือไม่ว่าการทำงานในบริษัทที่ประเทศญี่ปุ่นนั้น มีกฎระเบียบและข้อควรรู้อยู่มากมาย เริ่มตั้งแต่การก้าวเข้าไปทำงานจนถึงวัฒนธรรมการดื่มหลังเลิกงาน ด้วยความที่คนญี่ปุ่นจะเน้นการทำงานในลักษณะเป็นทีม ดังนั้นมารยาทและวัฒนธรรมในการทำงานร่วมกับผู้อื่นจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ หลายๆท่านที่เคยผ่านประสบการณ์ทำงานกับบริษัทญี่ปุ่นมาคงทราบบ้างแล้ว สำหรับท่านที่กำลังจะเริ่มงานกับบริษัทญี่ปุ่นบทความนี้จะนำเสนอเรื่องวัฒนธรรมและมารยาทในการทำงานในบริษัทญี่ปุ่น เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนที่จะเริ่มงานในบริษัทญี่ปุ่น!

คุณมีปัญหาเกี่ยวกับการหางานในญี่ปุ่นหรือไม่?
คุณเจองานที่เหมาะกับคุณหรือยัง? ไม่รู้จะหางานในญี่ปุ่นยังไง ไม่สามารถหางานที่รับคนต่างชาติได้ ไม่มั่นใจในภาษาญี่ปุ่น
WeXpats จะแก้ปัญหาทุกเรื่องที่คุณมีเกี่ยวกับการหางานในญี่ปุ่น หางานด้วย WeXpats Jobs

■ การทักทาย

“การทักทาย” กุญแจดอกแรกแห่งความประทับใจ การทักทายเป็นช่องทางการสื่อสารกับผู้อื่นที่สำคัญมาก ที่ญี่ปุ่นโดยเฉพาะถ้าเป็นน้องใหม่ในบริษัทแล้ว การทักทายทำให้ผู้อื่นจดจำเราได้ดังนั้นควรพยายามทักทายทุกๆ คนด้วยเสียงที่ยิ้มแย้มสดใส เเมื่อเข้าไปถึงที่ทำงานอย่างแรกเลยก็ทักทายด้วยประโยค Ohayogozaimasu (おはようございます) ที่แปลว่า “อรุณสวัสดิ์” เวลาเลิกงานก็บอกลาทุกคนด้วยประโยค Otsukaresamadeshita,osakini shitsurei itashimasu (お疲れ様でした、お先に失礼します。) ที่แปลว่า “ขอบคุณที่เหนื่อยมาทั้งวัน ขออนุญาตกลับก่อนนะคะ” ซึ่ง 2 ประโยคนี้ถือเป็นประโยคมาตรฐาน บางที่เราอาจจะได้ยิน Otsukaresamadesu (お疲れ様です) หรือ “ขอบคุณที่ทำงานจนเหนื่อย” ในช่วงเวลาทำงาน ตอนที่เราเดินสวนกับเพื่อนร่วมงาน ซึ่งอันนี้ไม่ได้แปลว่าเขากำลังจะกลับบ้านนะคะ เป็นการทักทายตามมารยาทซึ่งเราก็ควรจะตอบเค้าด้วยประโยคเดียวกันนี้ Otsukaresamadesu! (お疲れ様です!) การทักทายที่ดีเป็นใบเบิกทางไปสู่ความสำเร็จในการทำงานเลยนะ อย่าลืมทักทายทุกคนในที่ทำงานด้วยนะคะ

■ ไม่ค่อยนั่งเม้าท์มอย มักจะนั่งทำงานเงียบๆ

คนญี่ปุ่นไม่ค่อยพูดคุยกันระหว่างทำงานเหมือนในประเทศไทยซึ่งเป็นเรื่องปกติที่จะสนทนากับคนข้างๆคุณแม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานเลยก็ตาม คนญี่ปุ่นไม่ค่อยเล่นโทรศัพท์ส่วนตัวเวลาทำงาน เพราะในญี่ปุ่นการใช้เวลามากเกินไปในการพูดคุยกันระหว่างทำงานหรือเล่นโทรศัพท์ในขณะที่อยู่ที่ทำงานมักจะถูกมองอย่างดูถูกว่าการทำเช่นนี้ทำให้คนอื่นรู้สึกว่าคุณไม่ได้ทำงานอย่างจริงจัง ดังนั้นจึงควรระวังเรื่องนี้ให้มาก

■ ห้ามสาย!

เมื่อกล่าวถึงการทำธุรกิจ ความน่าเชื่อถือถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดค่ะ หากเราไปสายก็จะถูกมองว่าเราไม่มีประสิทธิภาพ ไม่สามารถบริหารจัดการเวลาตนเองได้ ถือเป็นบุคลากรที่ไร้คุณภาพของบริษัทเลยล่ะค่ะ ดังนั้นหากมีนัดกับลูกค้าหรือมีประชุมภายในบริษัทแล้ว ก็จะต้องไปให้ถึงก่อนเวลาเพื่อไปรอในสถานที่นั้น นี่ถือเป็นเรื่องปกติของคนญี่ปุ่นเลยค่ะ ควรไปก่อนเวลาประมาณ 5 - 10 นาที แต่หากมีปัญหาด้านการเดินทางแบบสุดวิสัย เช่น การจราจรติดขัด หรือรถไฟหยุดให้บริการทำให้ต้องไปสายแบบเลี่ยงไม่ได้ ก็จะต้องรีบติดต่อทุกๆ คนที่เกี่ยวข้องกับนัดครั้งนั้นทันทีที่รู้ตัวว่าจะสาย พร้อมกับแจ้งเหตุผลไปด้วยก็ไม่น่ามีปัญหาอะไรตามมา แต่การที่เราติดต่อไปหลังจากที่เลยเวลานัดแล้ว จะทำให้ความน่าเชื่อถือของเราลดลงแน่นอน ดังนั้นต้องระวังในจุดนี้เอาไว้มากๆ

■ ทำงานหนักและมักทำโอที

ในญี่ปุ่นการทำงานล่วงเวลาเป็นเรื่องปกติ แต่ในไทยการกลับบ้านตรงเวลาถือเป็นเรื่องปกติ มีสาเหตุหลายประการที่ทำให้คนญี่ปุ่นทำงานดึก แต่สาเหตุใหญ่ประการหนึ่งที่ทำให้วัฒนธรรมการทำงานล่วงเวลาของญี่ปุ่นเกิดขึ้น เนื่องจากเชื่อว่าคนที่ทำงานล่วงเวลาถือว่าเป็นคนขยันและทำงานหนักมาก อีกเหตุผลหนึ่งคือคนญี่ปุ่นมักจะใส่ใจเพื่อนร่วมงานและพบว่ามันยากที่จะออกตรงเวลาหากคนอื่นยังนั่งทำงานอยู่

■ พักทานอาหารกลางวัน

บางทีอาจจะสงสัยว่าทำไมคนจำนวนมากในญี่ปุ่นกินข้าวกลางวันคนเดียว? ในขณะที่ไทยเราทุกคนไปกินเที่ยงด้วยกัน และมีเวลาพักแค่วันละชั่วโมงเท่านั้นและคนญี่ปุ่นก็เคร่งครัดกับมันมาก เวลารับประทานอาหารกลางวัน ในช่วงเวลานั้นก็สามารถทานอาหารและพักผ่อนหรือไปทำธุระส่วนตัวได้ เวลาพักนอกจากเวลาพักทานอาหารกลางวัน อย่างเช่นพักสูบบุหรี่ หรือเวลาน้ำชา ตัวพนักงานมักจะเป็นผู้กำหนดเองตามความเหมาะสม แต่ทั้งหมดนั้นก็ต้องลองสอบถามจากคนในที่ทำงานดูก่อนเพราะแต่ละบริษัทก็มีกฎระเบียบที่ไม่เหมือนกัน

■ บริษัทมีค่าเดินทางให้

หลายคนพูดถึงเรื่องค่าเดินทางของญี่ปุ่น หากคุณเคยไปญี่ปุ่นคุณอาจสังเกตเห็นว่าค่าขนส่งมวลชนนั้นค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ การนั่งรถไฟแม้แค่ป้ายเดียวอาจมีราคามากกว่า 100 เยนและการนั่งแท็กซี่ระยะสั้น 2 กม. ในโตเกียวอาจมีราคามากกว่า 800 เยน สาเหตุนี้น่าจะเกิดจากการที่โครงสร้างเรื่องจ่ายค่าเดินทางให้พนักงานเป็นสวัสดิการอย่างนึง ซึ่งที่ไทยน่าจะมีบ้างนะเพราะค่ารถไฟที่ไทยก็ถือว่าราคาสูงเมื่อเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำของไทย

■ โนมินิเคชั่น(飲みニケーション)

เรื่องนี้เคยกล่าวไปแล้วในบทความ โนมินิเคชั่น(飲みニケーション) คนที่ทำงานในญี่ปุ่นจะมีวัฒนธรรมการดื่มสังสรรค์กับที่ทำงานที่เรียกว่า โนมิไก (飲み会) ที่โดยส่วนใหญ่แล้วคนที่ทำงานด้วยกันรวมตัวไปสังสรรค์ ถึงแม้ว่านี่จะเป็นแค่การสังสรรค์ แต่ความสำคัญของระบบอาวุโสในที่ทำงานก็ยังคงมีอยู่ โดยที่เหล่าพนักงานรุ่นน้องจะต้องคอยดูแลเติมแก้วของพนักงานรุ่นพี่ให้เต็มอยู่เสมอ โดยอาจจะสรุปได้ว่าโนมินิเคชั่นเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์อันดีระหว่างคุณกับผู้ร่วมงาน แต่คุณก็ควรจัดลำดับความสำคัญของสิ่งที่คุณต้องทำและสิ่งที่คุณต้องการทำในอนาคต

■ การแต่งกาย

วัฒนธรรมการแต่งกายในการทำงานของญี่ปุ่นในปัจจุบันเริ่มเปิดกว้างมากขึ้น จากแต่ก่อนที่จะต้องใส่สูท ผูกเนกไทเพียงอย่างเดียว ถึงแม้ว่าตอนนี้จะสามารถแต่งกายได้ง่ายๆสบายๆมากขึ้น แต่ก็อย่าลืมวัฒนธรรมการแต่งชุดธรรมดาดังที่เคยอธิบายไปแล้วในบทความ ชุดธรรมดา(私服) ของญี่ปุ่น ลองศึกษาดูก่อน เวลาไปทำงานจะได้ไม่เจอสายตาแปลกๆจากเพื่อนร่วมงานนะ

■ การทำงานเป็นทีม!

บริษัทญี่ปุ่นนั้นให้ความสำคัญกับการทำงานเป็นทีมมากกว่าการทำงานคนเดียว ดังนั้นเวลาสัมภาษณ์หรือสอบเข้าทำงาน ความสามารถในการสื่อสารและการให้ความร่วมมือกับผู้สมัครท่านอื่นรอบๆ ตัว จึงเป็นจุดหนึ่งที่จะถูกเพ่งเล็งเป็นพิเศษเลยล่ะ การประชุมเยอะๆเพื่อให้ทุกคนได้พูดคุยกัน การที่ต้องรอการอนุมัติจากผู้อื่นที่อาจใช้เวลานานๆนั้น ถือเป็นหนึ่งในจุดเด่นขององค์กรญี่ปุ่นที่แสดงได้ถึงการให้ความสำคัญในความร่วมมือภายในบริษัท แต่มีเรื่องควรระวังคือการแสดงความคิดเห็นที่ตรงไปตรงมาเกินไปก็อาจจะสร้างภาพจำที่ไม่ค่อยดีให้กับเพื่อนร่วมงานว่า เราทำงานร่วมกับผู้อื่นไม่ได้ ทั้งนี้ก็ขึ้นกับบรรยากาศเฉพาะของแต่ละบริษัหรือแต่ละแผนกด้วย แต่อย่างไรก็ตาม การแสดงความคิดเห็นในเวลาที่เหมาะสมและมีศิลปะในการสื่อสารก็สามารถสร้างความประทับใจของผู้ฟังได้ 

■ อย่าลืม HORENSO หลักในการทำงาน!

บริษัทญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะแบ่งหน้าที่ตามแต่ละแผนก เพื่อประสิทธิภาพในการทำงานนั้น การที่แต่ละคนต้องรับผิดชอบหน้าที่ของตัวเองก็ถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่ง แต่การที่แต่ละคนทำงานของตนนั้น ไม่เพียงพอที่จะทำให้ทีมทั้งทีมได้ผลงานที่ยอดเยี่ยม สิ่งที่สำคัญและจำเป็นในการได้ผลลัพธ์ที่ต้องการก็คือ หลักในการทำงานแบบญี่ปุ่น HORENSO! คำว่า Ho มาจาก Hokoku (報告) หรือการรายงาน Ren มาจาก Renraku (連絡) หรือการติดต่อ และ So มาจาก Sodan (相談) หรือการปรึกษา โดยปกติแล้ว เราจะต้องรายงานสถานการณ์ปัจจุบันในการทำงานของเราให้กับหัวหน้าของเราและคนอื่นๆ ในทีมเป็นระยะๆ เพื่อที่จะได้รับทราบการดำเนินงานและจะได้ช่วยเหลือกันเพื่อให้ทีมประสบความสำเร็จไปได้ นอกจากนี้ ในบริษัทญี่ปุ่นข้อมูลที่เกี่ยวกับการประสบปัญหาต่างๆ ก็ยิ่งจำเป็นต้องแจ้งผู้อื่นให้เร็วที่สุดค่ะ เพราะหากทุกคนไม่ยอมแจ้งปัญหาแล้ว อาจทำให้ปัญหาบานปลายได้การพูดคุยและการใช้หลักการ HORENSO จึงจำเป็นมากๆในการทำงานในบริษัทญี่ปุ่น 

เป็นอย่างไรบ้างคะกับบทความนี้ ที่ได้แนะนำความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการทำงานในญี่ปุ่นกันไปเรียบร้อยแล้ว หวังว่าทุกคนจะเตรียมพร้อมกับวัฒนธรรมการทำงานแบบญี่ปุ่น เริ่มทำงานในบริษัทญี่ปุ่นกันได้อย่างราบรื่น ซึ่งแต่ละบริษัทอาจจะมีวัฒนธรรมและกฎระเบียบการทำงานในบริษัทที่แตกต่างกันไปบ้าง แต่ก็สามารถนำข้อแนะนำจากบทความนี่้ไปปรับใช้ได้นะคะ

นักเขียน

WeXpats
นำเสนอบทความที่หลากหลาย ตั้งแต่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับการใช้ชีวิต การทำงาน และการศึกษาต่อในประเทศญี่ปุ่น รวมไปจนถึงบทความแนะนำเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่น

บทความที่เกี่ยวข้อง 関連記事

บทความพิเศษ 特集

บทความยอดนิยม 人気記事

โซเชียลมีเดีย ソーシャルメディア

นำเสนอข้อมูลล่าสุดในญี่ปุ่นใน 9 ภาษา!

  • English
  • 한국어
  • Tiếng Việt
  • မြန်မာဘာသာစကား
  • Bahasa Indonesia
  • 中文 (繁體)
  • Español
  • Português
  • ภาษาไทย

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงการเข้าถึงและคุณภาพของเว็บไซต์ของเรา โปรดคลิก "ยอมรับ" เพื่อยอมรับการใช้คุกกี้ของเรา สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้คุกกี้ของเราโปรดคลิกที่นี่

นโยบายการใช้คุกกี้