อาหารปีใหม่ที่ญี่ปุ่นนอกจากโอเซจิ (御節) แล้ว โอโซนิ (お雑煮) ก็เป็นอาหารญี่ปุ่นที่นิยมทานกันในวันปีใหม่ ซึ่งโอโซนินั้นมีความน่าสนใจตรงที่แต่ละบ้านจะมีสูตรโอโซนิเป็นของตัวเอง ซึ่งแม้กระทั่งคนญี่ปุ่นเองก็จะแปลกใจกับโอโซนิที่ไปทานที่บ้านเพื่อนว่าไม่เหมือนกับของที่บ้านตัวเอง แต่จะเป็นเพราะอะไรและจริงๆแล้วโอโซนิต้องเป็นยังไงกันแน่ เราตามไปหาคำตอบกัน
■ โอโซนิ (お雑煮) คืออะไร?
โอโซนิ (お雑煮) หรือที่หลายคนรู้จักในชื่อซุปโมจิญี่ปุ่น เป็นอาหารที่นิยมทานในช่วงปีใหม่ ถึงแม้ว่าโอโซนิในแต่ละที่จะมีวัตถุดิบและวิธีการปรุงที่ไม่เหมือนกัน แต่มั่นใจได้ว่าในโอโซนินั้นจะต้องมีโมจิเป็นส่วนประกอบสำคัญที่ขาดไม่ได้อย่างแน่นอน เพราะโมจินั้นถือได้ว่าเป็นอาหารนำโชคของญี่ปุ่นมาตั้งแต่สมัยโบราณ และคนญี่ปุ่นจะนิยมทานโมจิในวันพิเศษหรือแม้แต่ในพิธีเฉลิมฉลองต่างๆ
บทความแนะนำ
■ รูปแบบของโมจิ
โมจิที่ใช้ในโอโซนิ สามารถแบ่งได้เป็นสองอย่างตามภูมิภาค โดยที่โมจิแบบเหลี่ยมหรือคาคุโมจิ (角餅)จะนิยมใช้กันในทางภูมิภาคฝั่งตะวันออกคือตั้งแต่ฮอกไกโดมาจนเกือบถึงคันไซ และโมจิแบบกลมหรือมารุโมจิ (丸餅) จะนิยมใช้ในทางภูมิภาคฝั่งตะวันตกคือตั้งแต่คันไซไปจนถึงคิวชู การใช้รูปแบบของแต่ละพื้นที่ก็ต่างกัน มีทั้ง ต้ม ย่าง หรือแม้แต่เอาไปทอดก่อน และที่สำคัญเลยคือ โอกินาว่านั้นไม่มีโอโซนิ!! แต่จะเป็นต้มซุปที่มีไส้วัวเป็นส่วนผสมหลักแทนอาจเป็นเพราะโอกินาว่ามีวัฒนธรรมที่ค่อนข้างต่างจากเกาะหลักมาก
■ ประเภทของน้ำซุป
ประเภทของน้ำซุปแต่ละที่ก็ต่างกันอย่างสิ้นเชิง แต่โดยส่วนใหญ่ของญี่ปุ่นแล้วนิยมเป็นซุปแบบใสที่ปรุงมาจากโชยุ,เกลือ,ดาชิหรือเครื่องปรุงซุปชนิดอื่นๆ บางที่ก็นิยมใช้ชิโระมิโซะ (白味噌) หรือมิโซขาวเช่นโอโซนิของโอซาก้า ทันโชคุมิโซะ (淡色みそ) หรือมิโซสีอ่อนที่นารา ที่แปลกเลยคือที่ชิมาเนะ ที่ใช้น้ำซุปถั่วแดง (あずき) มีรสชาติหวาน คล้ายๆจะเป็นขนมหวานเลย
■ โอโซนิของฮอกไกโด
โดยปกติโอโซนิของฮอกไกโดก็จะมีหลากหลายเพราะมีพื้นที่ใหญ่มาก ซึ่งโดยส่วนใหญ่ก็จะใช้โมจิย่างใส่ลงไปในน้ำซุปโชยุหรือมิโซแล้วแต่สถานที่และใส่อาหารทะเลชื่อดังของฮอกไกโดอย่างแซลมอน มันฝรั่ง และอิคุระลงไป แต่มีอีกแบบที่อยากแนะนำคือ โอโซนิที่ทำมาจากซุป "เมนมิ" ซึ่งเป็นเมนซึยุชนิดนึงที่ขายจำกัดเพียงในฮอกไกโด เป็นผลิตภัณฑ์ที่ชาวฮอกไกโดภาคภูมิใจ! โอโซนินี้เป็นสูตรที่ได้มาจากคิตามิในฮอกไกโด การต้มซุปเมนมิ ใส่หอมหัวใหญ่ซอย แต่โมจิที่นี่ต้องทอดก่อนถึงจะนำใส่ลงไปในน้ำซุปเมนมิ ดูง่ายๆแต่อร่อยมากๆ ลองดูวิธิการทำได้ที่นี่
■ โอโซนิของภูมิภาคโทโฮคุ
ในโทโฮคุอยากจะแนะนำโอโซนิในจังหวัดอิวาเตะและมิยากิ สิ่งที่ขาดไม่ได้เมื่อพูดถึงโอโซนิที่นี่คือ ฮิกิไซ (ひき菜)ที่ทำมาจากการหั่นหัวไชเท้า แครอท รากโกโบ เต้าหู้แช่แข็ง ฯลฯ เป็นชิ้นเล็กๆ ต้มในหม้อใบใหญ่แล้วนำไปแช่ค้างคืนไว้ รสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ทำให้ติดใจและหยุดทานไม่ได้ เอกลักษณ์อีกอย่างคือเวลาทานต้องจิ้ม คุรุมิดาเระ (くるみダレ) ซึ่งเป็นซอสที่ทำมาจากวอลนัทบดปรุงรสด้วยน้ำตาลหรือดาชิ ได้เพลิดเพลินกับสองรสชาติในคราวเดียวอร่อยจนเกือบหยุดไม่ได้เลยทีเดียว!
■ โอโซนิของภูมิภาคคันโต
โตเกียวจะใช้ซุปใสที่ได้จากการต้มโครงไก่และสาหร่ายคอมบุ ตามด้วยโมจิแบบเหลี่ยมหรือคาคุโมจิ (角餅)ย่าง หัวไชเท้า และโคมัตสึนะ (คะน้าญี่ปุ่น) ซึ่งจะใช้เวลาเคี่ยวน้ำซุปนานกว่า 30 นาที จึงสัมผัสได้ถึงรสอูมามิของซุปอย่างเต็มที่ ในส่วนของผักโคมัตสึนะนั้น มักใส่ไปตอนท้ายสุด เพื่อให้หลงเหลือรสสัมผัสอยู่เล็กน้อย ซึ่งจะทำให้อร่อยยิ่งขึ้นไปอีก
■ โอโซนิของภูมิภาคคันไซ
โอโซนิของภูมิภาคคันไซมักจะเป็นน้ำซุปที่ทำมาจากชิโระมิโซะ (白味噌) หรือมิโซขาว และใช้โมจิแบบกลมหรือมารุโมจิ (丸餅) ซึ่งในคันไซอยากจะแนะนำโอโซนิของนาราเมืองน้องกวางนั่นเอง โอโซนิของนาราจะใช้ซุปและวัตถุดิบแบบคันไซแต่การหั่นวัตถุดิบต่างๆเป็นทรงกลม และที่โดดเด่นที่สุดคือ การรับประทานโดยการจิ้มคินาโกะ (きな粉) รสชาติเข้ากันแบบไม่น่าเชื่อ ถือว่าเป็นเอกลักษณ์ของโอโซนิแบบนาราเลย
■ โอโซนิของภูมิภาคชูโกคุ
ถ้าพูดถึงภูมิภาคชูโกคุแล้วหลายคนต้องนึกถึงโอโซนิของชิมาเนะ ที่ใส่โมจิลงในน้ำซุปถั่วแดง (あずき) มีรสชาติหวาน คล้ายๆจะเป็นขนมหวานเลย ซึ่งแถบนี้เค้าเรียกว่าเซนไซ (ぜんざい) หรือโอชิรุโกะ (おしるこ)ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลของญี่ปุ่นในภูมิภาคชูโกคุจะทานเซนไซเป็นโอโซนิตั้งแต่เช้าวันปีใหม่
■ โอโซนิของภูมิภาคชิโกคุ
ที่สุดของโอโซนิในภูมิภาคชิโกคุ! อังโมจิโซนิ (あん餅雑煮) ของคากาวะ โมจิใส้ถั่วแดงในซุปสีขาว กินแบบกล้าๆกลัวๆ มันจะเข้ากันเหรอของหวานใส่ในซุปของคาว ลองกินแบบงง งง แต่ต้องแปลกใจที่มันอร่อยมาก อาจจะเป็นโอโซนิที่ชอบมากอีกอันที่เคยลองกินมา ถ้าใครมีโอกาสไปคากาวะช่วงปีใหม่ต้องลองนะ!
■ โอโซนิของภูมิภาคคิวชู
โอโซนิของภูมิภาคคิวชู อยากแนะนำโอโซนิของคาโกชิม่า ซึ่งจะเป็นซุปใสที่ได้จากการนำกุ้งตัวใหญ่ตากแห้ง เห็ดชิตาเกะตากแห้ง และสาหร่ายคอมบุไปแช่ในน้ำไว้ข้ามคืน ปรุงรสด้วยโชยุรสหวานที่เป็นเอกลักษณ์ของคาโกชิม่าใช้โมจิแบบกลมหรือมารุโมจิ (丸餅) เป็นโอโซนิที่จะสัมผัสได้ถึงน้ำซุปที่เข้มข้นจากการแช่กุ้งตัวใหญ่ตากแห้ง เห็ดชิตาเกะตากแห้ง และสาหร่ายคอมบุไว้ข้ามคืน การรับประทานนั้นจะกินกุ้งทั้งตัวเลยไม่แกะเปลือกซึ่งแข็งมาก ก็ถือว่าเป็นการบริหารฟันก็แล้วกัน