ช่วงเทศกาลปีใหม่คนญี่ปุ่น ทำอะไรกันบ้าง

เข้าสู่ช่วงเทศกาลปีใหม่กันแล้ว ทราบกันหรือไม่ว่าคนญี่ปุ่นทำอะไรกันบ้างในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่จะถึงนี้ แน่นอนว่าที่ญี่ปุ่นมักจะมีขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมที่ค่อนข้างจะแตกต่างจากเมืองไทยมาก ส่วนจะมีอะไรบ้างนั้นตามไปดูกันเลย

■ ทำความสะอาดครั้งใหญ่ (大掃除)

ก่อนก้าวเข้าสู่เทศกาลปีใหม่ คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะมีการทำความสะอาดครั้งใหญ่ (大掃除 Daisōji) เป็นการทำความสะอาดครั้งใหญ่ที่สุดเพื่อต้อนรับเทพเจ้าโทชิงามิเทพเจ้าแห่งปีใหม่ ซึ่งเชื่อว่าถ้าทำความสะอาดบ้านนั้นเหมือนการเปิดบ้านเพื่อต้อนรับสิ่งใหม่ ความโชคดี เงินทองเข้าสู่บ้านของตนเอง โดยการทำความสะอาดครั้งใหญ่ โดยจะเน้นที่ "การล้างเขม่า" ในสมัยก่อนมีเตาคามาโดะในบ้าน และภายในบ้านก็เต็มไปด้วยเขม่า ดังนั้นจึงเป็นสัญลักษณ์ของการทำความสะอาดครั้งใหญ่ ซึ่งมักจะทำกันโดยทั่วไปคือวันที่ 13 ธันวาคมของทุกปี

■ อาหารปีใหม่

ประเพณีการรับประทานอาหารปีใหม่ของญี่ปุ่นนั้นมีมากมาย แต่จะสรุปสั้นๆว่าจะต้องกินอะไรเมื่อไหร่ เริ่มจากคืนวันที่ 31 ธันวาคม คนญี่ปุ่นจะทานโทชิโคชิโซบะ (年越しそば) หรือโซบะข้ามปีกัน เชื่อว่าการทานโซบะสิ้นปีเหมือนตัดขาดสิ่งไม่ดี โชคร้ายให้ทิ้งไว้ในปีเก่า เส้นโซบะมีความยาวเปรียบเหมือนการอธิษฐานให้มีอายุที่ยืนยาว และเช้าวันปีใหม่จะทาน โอเซจิ (御節) อาหารญี่ปุ่นดั้งเดิมประจำเทศกาลปีใหม่ซึ่งส่วนประกอบแต่ละอย่างของโอเซจินั้นล้วนมีความหมายแตกต่างกันไป หรือบ้างก็ทานโอโซนิ (お雑煮) หรือโซนิ คืออาหารประเภทซุปที่ตามธรรมเนียมจะทานกันในวันขึ้นปีใหม่ อาจจะเรียกได้ว่า ซุปโมจิปีใหม่ หากต้องการอ่านข้อมูลเพิ่มเติมสามารถอ่านได้ที่ วัฒนธรรมอาหารญี่ปุ่นที่นิยมทานในช่วงปีใหม่

■ ชมพระอาทิตย์ปีใหม่,ไปวัด

การชมพระอาทิตย์ขึ้นครั้งแรก (初日の出 Hatsuhinode) ในเช้าวันที่ 1 มกราคมในตอนต้นของปีใหม่ ดวงอาทิตย์ที่คุณเห็นเป็นอันดับแรกในวันปีใหม่เป็นมงคล และว่ากันว่าเทพเจ้าโทชิงามิจะลงมาที่โลกมนุษย์นำความโชคดีมาให้กับทุกคน "ฮัตสึโมเดะ" (初詣 Hatsumōde) เป็นกิจกรรมการไปวัดและศาลเจ้าทันทีหลังจากต้นปีและสวดมนต์เพื่อขอบคุณและขอพรเพื่อความปลอดภัยและความสงบสุขของปีใหม่ ที่ศาลเจ้า มีการเสิร์ฟเหล้าสาเกศักดิ์สิทธิ์เพื่อป้องกันสิ่งชั่วร้าย พร้อมแผงขายอาหารและการทำนายดวงชะตาต้อนรับปีใหม่ และคนญี่ปุ่นก็นิยมซื้อเครื่องรางกันในวันนี้ด้วย

■ เขียนพู่กันจีน

การเขียนพู่กันจีนที่เรียกว่า คาคิโซเมะ (書初め Kakizome) นั้นเรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งประเพณีต้อนรับเทศกาลวันปีใหม่อีกอย่างหนึ่งเลยทีเดียว โดยที่การเขียนคาคิโซเมะนั้นมักจะเริ่มเขียนในวันที่ 2 มกราคม ส่วนใหญ่จะเขียนเพื่อแสดงแรงบันดาลใจของคุณสำหรับปีใหม่ อาจจะการเขียนแสดงความยินดีปีใหม่ บทกวี หรือเป้าหมายและแรงบันดาลใจสำหรับปีใหม่ที่กำลังจะมาถึงของคุณ

■ อาบน้ำยูซุ

ตามความเชื่อของคนญี่ปุ่นที่ว่าต้องอาบน้ำยูซุในวันเหมายันหรือที่ญี่ปุ่นเรียกว่า โทจิ (冬至) วันที่มีเวลากลางคืนยาวที่สุดในรอบปี ซึ่งมักจะอยู่ในช่วงสิ้นปีพอดี แต่นอกจากการอาบน้ำยูซุในวันเหมายันแล้ว ในช่วงปีใหม่ก็ยังนิยมอาบน้ำยูซุกันอีกด้วย ยูซุถือว่าเป็นยาป้องกันโรคหวัด ปรับปรุงการไหลเวียนของเลือดและฟื้นฟูจากความเหนื่อยล้ามาอย่างยาวนาน ซึ่งจะเห็นได้ตามออนเซ็นต่างๆจะให้บริการแช่ยูซุในออนเซ็นในช่วงเทศกาลปีใหม่ด้วย 

■ ซื้อลอตเตอรี่

การซื้อลอตเตอรี่เป็นเรื่องปกติที่ญี่ปุ่นอยู่แล้วแต่ช่วงปีใหม่จะมีลอตเตอรี่รางวัลใหญ่ที่เรียกว่า เน็นมัทสึจัมโบ้ (年末ジャンボ宝くじ) ออกขายในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม มีเงินรางวัลสูงสุดพันล้านเยนเลยทีเดียว ซึ่งแน่นอนว่าได้รับความนิยมอย่างมากในญี่ปุ่นถึงกับต่อแถวยาวๆไปซื้อในร้านที่โฆษณาว่ามีคนที่ซื้อจากร้านนี้แล้วถูกเยอะๆ คิวยาวเหยียดตั้งแต่วันเริ่มขายกันเลยทีเดียว หากต้องการอ่านข้อมูลเพิ่มเติมสามารถอ่านได้ที่ หวยจัมโบ้ญี่ปุ่น (ジャンボ宝くじ) ลุ้นถูกหวยและรวยไปด้วยกัน 

■ ซื้อถุงโชคดี

นี่ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่นักช้อปต่างตั้งตารอคอยเพราะนอกจากจะมีการลดราคาสินค้ามากมายแล้วยังมี ถุงโชคดี (Fukubukuro 福袋) ถุงที่รวมเอาสินค้าจากร้านค้าชั้นนำมากมายมาให้ได้ลุ้นกันอีกด้วย คล้ายๆกับการเล่นจับรางวัลเพราะเราไม่สามารถรู้ของด้านในได้ก็ต้องวัดดวงกันไป แต่ถ้าหากว่าเราได้ถุงที่มีของที่เราไม่ต้องการเลยบางทีก็จะเรียกว่า ถุงโชคร้าย (不幸袋 Fukōbukuro) หากต้องการอ่านข้อมูลเพิ่มเติมสามารถอ่านได้ที่ ถุงโชคดีญี่ปุ่น (福袋) ต้อนรับปีใหม่ 2022

■ เงินขวัญถุง

เป็นธรรมเนียมอีกอย่างของญี่ปุ่นที่ผู้ใหญ่มักจะให้เงินขวัญถุงกับเด็กๆ ในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า โอโตชิดามะ(お年玉 Otoshidama)เป็นอีกหนึ่งวัฒนธรรมที่เด็กๆญี่ปุ่นชื่นชอบมาก เพราะในช่วงเทศกาลปีใหม่ต้องกลับไปเยี่ยมบ้านเกิดของคุณพ่อคุณแม่ไปเยี่ยมปู่ย่าตายาย และทุกคนจะได้โอโตชิดามะกลับบ้านไป โดยปกติแล้วจะได้อยู่ที่ 10,000 - 30,000 เยนกันเลยทีเดียว ช่วงเทศกาลนี้อยากมีญาติผู้ใหญ่เป็นคนญี่ปุ่นขึ้นมาทันที

■ ไปรษณียบัตรปีใหม่

ไปรษณียบัตรปีใหม่หรือในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า เน็งกะโจ (年賀状 Nengajō) เป็นไปรษณียบัตรสำหรับปีใหม่โดยเฉพาะ มักจะมีคำอวยพรปีใหม่เขียนอยู่บนนั้นหรือคุณอาจจะเลือกแบบที่ไม่มีข้อความแล้วเขียนเพื่ออวยพรปีใหม่เองก็ได้ ปัจจุบันคนญี่ปุ่นยังคงนิยมส่งไปรษณียบัตรปีใหม่กันอยู่บ้าง แต่โดยส่วนมากจะเป็นข้อความในSNSเสียมากกว่า ไปรษณียบัตรปีใหม่สามารถหาซื้อได้ตามไปรษณีย์หรือตามร้านสะดวกซื้อทั่วไป

■ คอนเสิร์ตขาวแดง (紅白歌合戦)

คอนเสิร์ตขาวแดง (紅白歌合戦 Kōhaku Uta Gassen) เป็นงานคอนเสิร์ตใหญ่ประจำปีของช่อง NHK โดยจะออกอากาศเป็นประจำทุกวันที่ 31 ธันวาคมของทุกปีเริ่มออกอากาศครั้งแรกตั้งแต่ปี ค.ศ. 1951 ในแต่ละปี ทางรายการจะเชิญนักร้องในวงการเพลงของญี่ปุ่นมาร่วมรายการจำนวนมาก โดยจะแบ่งเป็น 2 ทีม คือทีมสีแดง(紅組)เป็นทีมของผู้หญิง และทีมสีขาว (白組)เป็นทีมของผู้ชาย ขึ้นทำการแสดงโดยสุดท้ายจะมีคณะกรรมการตัดสินว่าทีมใดเป็นผู้ชนะ ไม่ว่าใครจะเป็นผู้ชนะก็ตาม แต่สุดท้ายแล้วนักร้องที่ได้รับเชิญมางานคอนเสิร์ตขาวแดงถือว่าเป็นเกียรติสูงสุดของตัวนักร้องเอง

นักเขียน

WeXpats
นำเสนอบทความที่หลากหลาย ตั้งแต่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับการใช้ชีวิต การทำงาน และการศึกษาต่อในประเทศญี่ปุ่น รวมไปจนถึงบทความแนะนำเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่น

บทความที่เกี่ยวข้อง 関連記事

บทความพิเศษ 特集

บทความยอดนิยม 人気記事

โซเชียลมีเดีย ソーシャルメディア

นำเสนอข้อมูลล่าสุดในญี่ปุ่นใน 9 ภาษา!

  • English
  • 한국어
  • Tiếng Việt
  • မြန်မာဘာသာစကား
  • Bahasa Indonesia
  • 中文 (繁體)
  • Español
  • Português
  • ภาษาไทย
TOP/ วัฒนธรรมญี่ปุ่น/ ฤดูกาลและเทศกาล/ ช่วงเทศกาลปีใหม่คนญี่ปุ่น ทำอะไรกันบ้าง

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงการเข้าถึงและคุณภาพของเว็บไซต์ของเรา โปรดคลิก "ยอมรับ" เพื่อยอมรับการใช้คุกกี้ของเรา สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้คุกกี้ของเราโปรดคลิกที่นี่

นโยบายการใช้คุกกี้