ในช่วงฤดูร้อนที่ญี่ปุ่นจะมีช่วงวันหยุดยาว ที่เรียกว่าเทศกาลโอบ้ง (お盆) เป็นเทศกาลเซ่นไหว้ดวงวิญญาณของบรรพบุรุษ ซึ่งเชื่อกันว่าวิญญาณบรรพบุรุษที่ตายไปแล้วจะกลับมาโลกภูมิมาหาลูกหลาน อาจจะเรียกได้ว่าเป็นวันสาร์ทญี่ปุ่น คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ก็จะกลับบ้านไปเยี่ยมครอบครัวและเตรียมตัวจัดงานเพื่อเซ่นไหว้ดวงวิญญาณของบรรพบุรุษ เรียกได้ว่าเป็นวันรวมญาติของญี่ปุ่นเลยทีเดียว
■ โอบ้งจัดขึ้นเมื่อไหร่
ระยะเวลาในการจัดเทศกาลโอบ้ง (お盆) ส่วนใหญ่มักจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13 - 16 สิงหาคมเป็นเวลา 4 วัน ซึ่งในอดีตเทศกาลโอบ้ง (お盆) จะจัดในช่วงวันที่ 13-16 กรกฎาคม ในปัจจุบันมักจะจัดช่วงกลางเดือนสิงหาคมถึงต้นเดือนกันยายน ซึ่งแต่ละพื้นที่จะมีช่วงเวลาไม่เหมือนกัน
บทความแนะนำ
■ ความแตกต่างของโอบ้งขึ้นในแต่ภูมิภาค
ช่วงเวลาโอบ้ง (お盆) จะแตกต่างกันไปตามภูมิภาค
วันที่ 13-16 กรกฎาคม
・ บางพื้นที่เช่นเขตเมืองของโตเกียว เมืองเก่าของคานาซาว่า และชิซูโอกะ ในพื้นที่เหล่านี้ มักจะใช้วันที่ 15 กรกฎาคม เรียกอีกอย่างว่า "新のお盆 ShinnoObon" หรือ "東京盆Tokyobon"
วันที่ 13-16 สิงหาคม
・ เกือบทั่วประเทศ ยกเว้นพื้นที่"新のお盆 ShinnoObon" , จังหวัดโอกินาว่าและคาโกชิม่า มีหลายทฤษฎีที่ว่าทำไมหลายภูมิภาคจึงเลือกช่วงเวลานี้ เหตุผลอาจจะเป็นเพราะช่วงกรกฎาคมยังไม่หมดฤดูฝน และเวลาของเทศกาลโอบ้งที่แตกต่างกันระหว่าง โตเกียวและภูมิภาคอื่น ผู้คนสามารถรวมตัวกันได้ง่ายขึ้นและอาจจะด้วยมีเหตุผลอื่นอีกหลายประการ
ตามช่วงเวลาในอดีตวันที่ 13-16 กรกฎาคม หรือตามปฏิทินจันทรคติ
・ จังหวัดโอกินาว่าและคาโกชิม่า
ในโอกินาว่าและคาโกชิม่า โอบ้ง (お盆) ยังคงจัดขึ้นตามปฏิทินจันทรคติ ดังนั้นวันที่จึงเปลี่ยนไปขึ้นอยู่กับปี และใช้ระยะเวลาสั้นกว่าพื้นที่อื่นหนึ่งวัน และโดยทั่วไปคือสามวันตั้งแต่วันที่ 13 ถึง 15 กรกฎาคมหรือตามปฏิทินจันทรคติ มีการจัดแสดงศิลปะการแสดงดั้งเดิมของโอกินาว่า "เออิสะ" ( エイサー) เรียกว่าการเต้นรำในเทศกาลโอบ้ง (お盆) และการแสดงจะจัดขึ้นในวันที่สามเรียกว่า อุคุอิ (ウークイ)
■ 初盆 หรือ 新盆 คืออะไร
初盆 หรือ 新盆 เป็นงานโอบ้งแรกที่มีการเฉลิมฉลองหลังจากการเสียชีวิตของบุคคลและสิ้นสุดวันที่ 49 ไปแล้ว โดยงานโอบ้งแรกของบุคคลผู้นั้นจะเรียกกันว่า 初盆 (ฮัทสึบง) หรือ 新盆 (นีบง ชินบง หรือ อาระบง) โดยจะมีการเตรียมโคมไฟกระดาษสีขาวประดับที่สวน ที่หิ้งบูชา หรือที่สุสาน เป็นการต้อนรับการมาเยือนโลกมนุษย์เป็นครั้งแรกหลังจากที่เสียชีวิตไปแล้ว ซึ่งการเรียก 新盆 ต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ "ชินบง" ถูกเรียกในจังหวัดชิบะและนากาโนะ "อาระบง" ถูกเรียกในภูมิภาคคันโตตอนเหนือ และ "นีบง" ถูกเรียกในภาคตะวันออกของภูมิภาคชูบุ
■ ต้องทำอะไรบ้างในช่วงเทศกาลโอบ้ง
อันดับแรกในวันก่อนเริ่มเทศกาลโอบ้ง (お盆) จะเตรียมตัวสำหรับเทศกาลโอบ้ง (お盆) ดังนี้ ทำความสะอาดหลุมฝังศพ, ทำความสะอาดแท่นบูชา, การเตรียมโคมไฟถาด ฯลฯ จะมีการประดับแตงกวากับมะเขือม่วงเสียบตะเกียบหรือไม้จิ้มฟันซึ่งนี่จะเป็นพาหนะสำหรับบรรพบุรุษเรียกรวมกันว่า โชเรียวอุมะ 精霊馬 โดยแตงกวาสื่อถึงม้าและมะเขือม่วงสื่อถึงวัว ความหมายก็คือ "ให้บรรพบุรุษขี่ม้ามาจะได้กลับมายังโลกโดยเร็ว ส่วนขากลับก็ค่อยขี่วัวกลับช้าๆ" ในวันที่ 13 ในตอนเย็นเราจะจุดไฟ"Mukaebi" 迎え火 เพื่อบอกทางกลับบ้านโดยที่บรรพบุรุษของเราจะไม่หลงทาง วันที่ 14 และวันที่ 15 เชื่อกันว่าบรรพบุรุษจะอยู่ในหิ้งวิญญาณในช่วงเทศกาลโอบ้ง (お盆) เราจะเสิร์ฟผลไม้ ขนมหวาน และอาหารต่างๆ วันที่ 16 ว่ากันว่าบรรพบุรุษของเราอยู่ช่วงเช้า จึงถวายเครื่องบูชาในช่วงเช้า ในตอนเย็นเราจะส่งท่านกลับโดยก่อกองไฟ Okuribi 送り火 ส่งบรรพบุรุษ
■ เทศกาลในช่วงโอบ้ง
ที่เกียวโตก็มีไฟส่งวิญญาณบนภูเขาทั้งห้า โกะซันโอคุริบิ (五山送り火) ที่ยิ่งใหญ่จนมีผู้คนหลั่งไหลไปชมกันอย่างล้นหลาม ในวันที่ 16 สิงหาคม กองไฟ Okuribi 送り火 จะจุดขึ้นที่ภูเขาห้าลูก ได้แก่ Higashiyama Nyoigatake, Matsugasaki Nishiyama / Higashiyama, Nishigamo Funeyama, Daikitayama และ Mandarayama ซึ่งล้อมรอบเกียวโต เป็นงานประเพณีในการส่งวิญญาณของเทศกาลโอบ้ง (お盆) และในบางแห่งจะมีประเพณี โชโระนากาชิ (精霊流し) หรือลอยโคมบนแม่น้ำเป็นการส่งวิญญาณ แม้การจากลากับบรรพบุรุษที่กลับมายังโลกอีกครั้งจะอบอวลด้วยบรรยากาศน่าเศร้าอยู่บ้าง แต่ก็เป็นภาพอันงดงามราว ที่ลืมไม่ได้ในเทศกาลโอบ้งคือ รำวงบงโอโดริ เป็นรำวงต้อนรับวิญญาณที่กลับมายังโลก ในปัจจุบันความหมายดังกล่าวได้จางหายไปและกลายเป็นงานรื่นเริงประจำฤดูร้อนไปแล้ว
เทศกาลโอบ้ง (お盆) ในบริษัทต่างๆมักจะกำหนดเป็นวันหยุดพักผ่อนช่วงฤดูร้อน ร้านค้าต่างๆหยุดทำการให้ทุกคนได้กลับบ้านไปหาครอบครัว หรือบางครอบครัวอาจจะพากันไปเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ ทำให้ช่วงนี้การจราจรไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ รถไฟ รถบัส หรือเครื่องบิน หนาแน่นไปด้วยผู้คน เปรียบเสมือนช่วงสงกรานต์ของเมืองไทยเลยทีเดียว