เชื่อว่าเมื่อทุกคนมาถึงญี่ปุ่นน่าจะต้องเกิดอาการ Culture Shock กับวัฒนธรรมที่แตกต่างในญี่ปุ่นอย่างแน่นอน ซึ่งวัฒนธรรมแปลกๆของญี่ปุ่นอาจจะเป็นเรื่องที่เราไม่ค่อยได้พบเจอในประเทศไทย แต่เมื่อเรามาที่ญี่ปุ่นแล้วเราก็ต้องเข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตามตามใช่มั้ย ลองมาดูกันว่าเราเคย Culture Shock กับวัฒนธรรมญี่ปุ่นเหมือนกันหรือไม่?
สารบัญ
- อาบน้ำรวม
- แฟชั่น
- รายการทีวี
- คำสุภาพ
- เรียนพิเศษ
- การสารภาพรัก
- สิ่งที่คิดกับสิ่งที่แสดงออก
- การทิ้งขยะ
- เรซูเม่
- “วาเซย์ เอโกะ” ( 和製英語)
■ อาบน้ำรวม
อย่างแรกเลยเมื่อมาถึงญี่ปุ่นครั้งแรก กลุ่มคนไทยเรามักจะช็อกกับการอาบน้ำรวมในออนเซ็นหรือเซ็นโตะที่เป็นโรงอาบน้ำสไตล์ญี่ปุ่น มาช่วงแรกนี่ทำอะไรไม่ถูกแน่นอน ทั้งเขิลทั้งอายที่จะต้องมาแก้ผ้าอาบน้ำร่วมกับคนอื่น แต่ไม่ต้องห่วงนะมันเป็นวัฒนธรรมของญี่ปุ่น ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเลยกับการลงไปอาบน้ำกับคนอื่น ขนาดที่บ้านโฮสต์แฟมมิลี่ พ่อ แม่ ลูกสาวที่โตเป็นสาวมัธยมปลายแล้วยังอาบน้ำด้วยกันอยู่เลย เรื่องนี้ก็เป็นอีกความช็อกที่แบบว่าที่ไทยไม่มีนะ เราอาจจะเคยอาบน้ำกับพ่อแม่ตอนเล็กแทบจะจำไม่ได้ แต่พอโตมาอาบเองได้แล้วเราก็ไม่เคยอาบน้ำกับใครอีกเลย แต่ในปัจจุบันคนไทยมาเที่ยวญี่ปุ่นมากขึ้นและพอได้รับรู้กับวัฒนธรรมนี้บ้างแล้วก็น่าจะมีความเขินอายน้อยลง แต่ว่าการอาบน้ำรวมการแช่ออนเซ็นที่นี่เขาก็มีกฎและมารยาทในการแช่ออนเซ็นอยู่นะ สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ มารยาทในการแช่ออนเซ็นและโรงอาบน้ำสไตล์ญี่ปุ่น
บทความแนะนำ
■ แฟชั่น
แฟชั่นญี่ปุ่นก็เป็นอีกความช็อกเพราะจากที่เราเห็นในสื่อที่เมืองไทย แต่งตัวกันฉูดฉาดมาก ชิบุย่า ฮาราจุกุ คอสเพลย์ เราเลยมีความคิดว่าชุดแบบนั้นเป็นเรื่องปกติ แต่พอมาอยู่จริงๆคนญี่ปุ่นแต่งตัวแบบคุมโทนมาก ขาว ดำ เทา น้ำเงิน น้ำตาล สีแบบเรียบๆ ไม่ค่อยมีคนแต่งตัวสีฉูดฉาดมากนัก ยิ่งถ้าเป็นคนทำงานบริษัทแล้วละก็มาแนวเดียวกันเป๊ะๆ ขึ้นรถไฟนี่ดำทะมึน แถมคนญี่ปุ่นยังแต่งหน้าน้อยมาก มักจะเรียกว่าเนเชอรอลเมค แต่งให้เหมือนไม่แต่ง ซึ่งแตกต่างจากเกาหลีและจีนมาก ถ้าเราทาปากสีจัดนิดนึงคนก็จะมองออกทันทีว่าเราไม่ใช่คนญี่ปุ่น อ่านเพิ่มเติมจากบทความนี้ การแต่งหน้าแบบญี่ปุ่น! ความแตกต่างของการแต่งหน้าแบบเกาหลีและจีน และเรื่องแฟชั่นถุงเท้านักเรียนที่กำลังฮิตในหมู่เด็กสาวก็จะเป็น ลูสซอก ที่เราเคยเห็นตามการ์ตูนญี่ปุ่นเมื่อประมาณ20 ปีที่แล้วก็ได้กลับมาฮิตอีกครั้ง ดูได้จากบทความ ถุงเท้านักเรียนญี่ปุ่น "Loose Socks" กลับมาบูมอีกครั้ง!!
■ รายการทีวี
รายการทีวีที่ญี่ปุ่นก็มีหลากหลายและก็ดูสนุกเป็นการเรียนภาษาญี่ปุ่นได้อย่างดีเลยทีเดียว ตอนมาแรกๆจะงงกับรายการญี่ปุ่นที่มักจะมีตัวอักษรขึ้นตลอดเวลา ตอนแรกอ่านไม่ออกเลยดูแล้วแบบรำคาญจัง อะไรเนี่ยมองอะไรไม่ค่อยเห็นเลย แต่พอเริ่มได้เรียนภาษาญี่ปุ่นแล้ว ตัวอักษรเหล่านี้แหละที่ทำให้ภาษาของเราพัฒนาไปได้อย่างรวดเร็ว ใครที่กำลังเรียนภาษาญี่ปุ่นอยู่ แนะนำให้ดูรายการทีวีเยอะๆ ภาษาญี่ปุ่นพัฒนารวดเร็วแน่นอน
■ คำสุภาพ
ปกติตอนแรกมาก็งงกับภาษาพูดและภาษาเขียนอยู่แล้ว สิ่งที่เราเคยเรียนมาทั้งหมดเก็บไว้เลย เพราะคนที่นี่เค้าไม่พูดกัน ตัวอย่างเช่น คุณทานข้าวเที่ยงหรือยัง? あなたは昼ご飯を食べましたか?(Anata wa hiru gohan o tabemashita ka?) จริงๆที่พูดในชีวิตประจำวันก็แค่ 昼ご飯食べた?(Hiru gohan tabeta?) ดูสิสั้นเหลือแค่นี้เอง และยิ่งเป็นคำสุภาพที่เรียกว่า 敬語 (Keigo) อันนี้ยิ่งหนักเลย เพราะยาวและยากมาก ตัวอย่างเช่นคำว่า ごめんなさい (Gomen'nasai) ที่ใช้ได้ทั้งภาษาพูดและเขียนแต่พอเป็นคำสุภาพต้องใช้ 申し訳ございません (Mōshiwakegozaimasen) และก็มีอีกหลายๆคำที่เป็นคำสุภาพและมักต้องใช้เวลาทำงานในญี่ปุ่น
■ เรียนพิเศษ
การเรียนพิเศษของเด็กญี่ปุ่นก็หนักมาก จุดประสงค์การเรียนพิเศษ ก็มีทั้งทบทวนวิชาที่เรียนปูพื้นให้แน่น กับ เรียนเพื่อสอบเข้าโรงเรียนเอกชน การเรียนพิเศษที่เน้นการสอบเข้าโรงเรียนเอกชนก็มีแบ่งอีกหน่อย โรงเรียนยากมากกับโรงเรียนทั่วไป ทำไมถึงต้องโรงเรียนเอกชน? เขาว่ากันว่าเอกชนดูแลเด็กดีมาก ผู้ปกครองแทบไม่ต้องไปช่วยเหลืออะไรเท่าไหร่ การสอบต่อมัธยมปลายรวมถึงการเตรียมตัวสอบมหาลัย ทางโรงเรียนจะช่วยดูแลให้ด้วย ค่าใช้จ่ายค่าเรียนพิเศษแล้วแต่สถานที่ ถ้าโรงเรียนพิเศษดังก็แพงนิดนึง ส่วนเรียนพิเศษแบบธรรมดาหน่อยก็ราคาไม่แพงมาก แต่คิดว่าโดยเฉลี่ย ปีแรกๆ น่าจะ 3 แสนเยนไล่ขึ้นมาจนป.6 เป็นปีที่จ่ายบางทีอาจถึง 1 ล้านเยน ดังนั้นก็รวม ๆ น่าจะราวๆ 1.5 - 2 ล้านเยนต่อ 3 ปี การเรียนพิเศษก็จะช่วยให้น้องๆไปตามความฝันเรียนในโรงเรียนที่ตัวเองอยากเข้าได้ ด้วยการแข่งขันค่อนข้างสูงทำให้เด็กญี่ปุ่นต้องพยายามมากขึ้น ดังนั้นก็ไม่น่าแปลกใจที่เรามักจะเห็นเด็กนักเรียนในชุดนักเรียนเดินออกมาจากโรงเรียนสอนพิเศษเป็นประจำ ข้อมูลจากเพจคุณนายปลาดิบ
■ การสารภาพรัก
การสารภาพรักนี่เป็นเรื่องปกติมากๆในญี่ปุ่น ตามที่เรามักจะได้เห็นจากการ์ตูนญี่ปุ่นหรืออนิเมะต่างๆ มันคล้ายๆกับเป็นวัฒนธรรมของญี่ปุ่นว่าจะต้องมีการสารภาพรักกัน ในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า 告白 (Kokuhaku)ซึ่งเราได้รวบรวมวิธีสารภาพรักไว้แล้วที่บทความ วิธีบอกรักในภาษาญี่ปุ่น และวันที่มักมีการสารภาพรักก็หนีไม่พ้น วันวาเลนไทน์ และ การตอบกลับของผู้ชายก็จะมีขึ้นในวันไวท์เดย์ เรียกได้ว่าเป็นวัฒนธรรมแสดงความรักที่น่ารักมากเลยทีเดียว
■ สิ่งที่คิดกับสิ่งที่แสดงออก
สิ่งที่คิด「本音 Honne」กับสิ่งที่แสดงออก「建前 Tatemae」ในญี่ปุ่น อาจจะเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่คนไทยมักจะไม่เก็ท ไม่เข้าใจว่าคืออะไร ช่วงแรก ๆ น่าจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่เข้าใจยากมาก เช่น เพื่อนคนญี่ปุ่นจะมักจะพูดว่า “คราวหน้าเราไปเที่ยวบ้านชั้นนะ” โดยที่เขาไม่ได้เคยบอกว่าไปเมื่อไหร่ จริงๆแล้วอยากให้ไปจริงหรือเปล่า พอเราจะไปจริงๆถามกลับว่าได้สิเมื่อไหร่ดี คนญี่ปุ่นจะอึ้งๆไป เหมือนเค้าจะพูดเป็นมารยาทเท่านั้นเอง เค้าก็จะปฏิเสธช่วงนี้ยังไม่ได้ติดนู่นนี่นั่น คนไทยก็เลยเดาไม่ถูกว่าที่เขาพูดนี่กำลังชวนไปจริง ๆ หรือว่าไม่ใช่กันแน่ อาจจะเป็นเพราะคนญี่ปุ่นหลายคนมักจะรู้ว่าคนรอบตัวรู้สึกยังไง หรือรู้ว่าคู่สนทนาจะมีปฏิกิริยายังไง การชวนเป็นไปตามมารยาทเท่านั้น ไม่ว่าจะกินข้าว ไปเที่ยว หรืออะไรก็ตามแต่ เอาจริงๆถึงตอนนี้ยังไม่ค่อยเข้าใจเลยสรุปชวนจริงหรือตามมารยาทกันแน่นะ แล้วก็มีอีกอย่างคือเรื่องเสียงสอง อันนี้หลายๆคนน่าจะเคยเห็นสาวญี่ปุ่นเวลาอยู่กับเพื่อนกับเวลาไปเดทนี่ช่างแตกต่างกันเหลือเกิน
■ การทิ้งขยะ
การทิ้งขยะในญี่ปุ่นต้องมีการแยกประเภทของขยะให้เรียบร้อย คนเก็บไปแล้วพร้อมรีไซเคิลได้เลย ดังที่จะเห็นในรูปมีการแยกขยะทั่วไป กล่องกระดาษ พลาสติก ขวดน้ำ กระป๋อง หากเป็นขยะที่บ้าน จะมีการกำหนดเลยว่าขยะทั่วไปทิ้งวันไหน กล่องกระดาษ พลาสติก ขวดน้ำ กระป๋องต้องทิ้งวันไหน แถมยังต้องทิ้งก่อนเวลาที่รถเก็บขยะมาเก็บด้วย โดยปกติแล้ววันทิ้งขยะจะแบ่งได้ตามประเภทขยะดังนี้ ① ขยะเผาได้ (燃えるごみ) ② ขยะเผาไม่ได้ (燃えないごみ) ③ ขยะรีไซเคิล (資源) ④ กระดาษหรือกล่องใช้แล้ว (古紙) แต่สุดท้ายแล้วก็ต้องขึ้นอยู่กับเขตพื้นที่อาศัยของคุณต้องลองเช็คดีๆนะ และถ้าหากเอามาทิ้งผิดวันขยะก็จะถูกกองไว้ตรงนั้นแล้วก็จะมีสติ๊กเกอร์แปะประจานอีกด้วย (เคยโดนมากับตัวเอง T-T)
■ เรซูเม่
เรื่องนี้บอกเลยว่าร้อยทั้งร้อยเมื่อมาอยู่ญี่ปุ่นแล้วจะงง ทำไมต้องมีเรซูเม่ 2 แบบด้วยนะ ปกติเรซูเม่เวลาสมัครงานที่ไทยก็จะมีอันเดียว ที่เขียนหมดเลยว่าเรียนที่ไหนทำงานอะไร เนื้อหางานอย่างไร มีความสามารถพิเศษอะไร ใช้โปรแกรมอะไรได้บ้าง แต่ที่ญี่ปุ่นจะแยกเรซูเม่ออกเป็นสองแบบคือ 履歴書 (Rirekisho) และ 職務経歴書 (Shokumukeirekisho) โดยจะมีความแตกต่างคือวัตถุประสงค์ในการใช้ ตัว 履歴書 (Rirekisho) คือเอกสารยืนยันประวัติของผู้สมัครทั้งหมดโดยย่อไม่ได้ลงรายละเอียดมักจะเป็นแบบฟอร์มมาตรฐานและประกอบด้วย "รายการที่จำเป็น" เช่น ชื่อ ข้อมูลติดต่อ ประวัติการศึกษา และประวัติการทำงาน และ "รายการเสริม" เช่น งานอดิเรกและทักษะพิเศษ ส่วน 職務経歴書 (Shokumukeirekisho) คือเอกสารยืนยันประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมาและทักษะที่สามารถนำไปใช้ในการทำงานได้ ใช้รูปแบบการเขียนทั่วไปแต่ไม่ได้มีแบบฟอร์มเป็นมาตรฐานเหมือน履歴書 (Rirekisho) อ่านเพิ่มเดิมได้ที่บทความ เรซูเม่แบบญี่ปุ่น ความแตกต่างระหว่าง 履歴書 (Rirekisho) และ 職務経歴書 (Shokumukeirekisho)
■ “วาเซย์ เอโกะ” ( 和製英語)
ภาษาอังกฤษแบบญี่ปุ่นและอักษรคาตาคานะนี่ทำทุกคนงงแล้ว เจอภาษาญี่ปุ่นแบบ “วาเซย์ เอโกะ” ( 和製英語) นี่ยิ่งงงเข้าไปใหญ่ คือมันเป็นคำที่ภาษาญี่ปุ่นหยิบมาจากภาษาอังกฤษแต่ความหมายไม่เหมือนกับภาษาอังกฤษเลย เช่น マイペース(my pace)ไม่ได้แปลว่า ฝีเท้าของฉัน แต่หมายความว่า My own pace ทำอะไรตามเวลาที่ตัวเองสะดวก, ハイタッチ(high touch)ไม่ได้แปลว่า การเข้าถึงจิตใจคน แต่หมายถึงการแตะมือ Hi five! , ハイテンション (high tension) ไม่ได้แปลว่า มีความตึงเครียดสูง แต่หมายถึงพลังเหลือล้นหรือพวกไฮเปอร์ ส่วนคำนี้น่าจะได้ยินบ่อยๆ バイキング (Viking) ไม่ได้แปลว่า เรือไวกิ้ง แต่แปลว่าอาหารแบบบุฟเฟต์「Buffet」
เป็นอย่างไรกันบ้างกับ Culture Shock วัฒนธรรมที่แตกต่างจากไทยในญี่ปุ่น มีใครเคย Culture Shock กับวัฒนธรรมญี่ปุ่นแบบเดียวกันหรือว่ามีเรื่องอะไรอยากแชร์อยากคุยกับเรา สามารถติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ค WeXpats Thailand นะ แล้วพบกันใหม่!!